รัฐสภา 21 เม.ย. – สนช.รับหลักการวาระ 1 ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง คะแนนเอกฉันท์ กรธ. หวังให้พรรคการเมืองมีอิสระไม่ถูกครอบงำจากนายทุน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันหลักการว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มุ่งให้พรรคการเมือง สามารถดำเนินกิจการได้โดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำ มีมาตรการกำกับดูแลสมาชิกพรรคที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้การบริหารพรรคการเมืองหลังจากนี้ เป็นไปอย่างเปิดเผย
ขณะที่สมาชิก สนช. มีทั้งสนับสนุนและท้วงติงบางประเด็นของร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ชี้แจงถึงการเชิญผู้แทนพรรคการเมือง และนักวิชาการ เข้าหารือก่อนหน้านี้ มีเสียงสะท้อนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้จัดตั้งพรรคการเมืองยาก แต่ถูกยุบง่าย ซึ่งขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย และการกำหนดทุนประเดิมของพรรคการเมือง และค่าสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น จะเกิดปัญหานายทุนพรรคมากขึ้นได้ และยังตั้งข้อสังเกตต่อองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองว่า เหตุใดจึงตัดสัดส่วนของผู้แทนพรรคการเมืองออกไป และในร่างกฎหมาย มีบทลงโทษรุนแรงกับผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง จึงอาจเป็นเหตุให้ไม่มีคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองได้ เพราะกลัวบทลงโทษที่รุนแรง
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. เห็นว่า โทษต่าง ๆ ที่กำหนดในร่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ ยังน้อยเกินไปและไม่รุนแรงพอ และสนับสนุนการเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมือง
นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับหลายเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือห้ามสมาชิกพรรค รับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลภายนอก แต่ยังกังวลในกรณีการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมืองของสมาชิก ที่หากขาดการชำระ 2 ปี จะต้องพ้นสมาชิกภาพนั้น อาจเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป
นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย เพราะอาจเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองของประเทศในอนาคต และสนับสนุนระบบการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งของพรรคการเมือง แต่ยังกังวลต่อการบังคับใช้ เพราะเห็นว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองที่ต้องหาสมาชิก 500 คนนั้น ยากเกินไป และการวางทุนประเดิม 1 ล้านบาท อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีฐานะ มากกว่าผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงการระดมสมาชิกในช่วงการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น จะเป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับการให้สมาชิกพรรคจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง เพื่อให้สมาชิกพรรคมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรคการเมือง แต่จะต้องมีการตรวจสอบว่าเงินดังกล่าวจะต้องไม่ใช่เงินทดรองจ่ายจากพรรคการเมือง การจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ควรจัดตั้งง่าย และยุบยาก
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และเห็นว่า ก่อนการรัฐประหารนี้ ไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง หวังว่า ในขั้นกรรมาธิการ จะมีการพิจารณาปรับแก้ให้เหมาะสม และยังหวังว่า ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการเลือกตั้งโปร่งใส มีกรรมการองค์กรอิสระที่กล้าหาญ และโปร่งใสได้
นายมีชัย ชี้แจงถึงข้อท้วงติงจากพรรคการเมืองและนักวิชาการ ที่ว่าตั้งพรรคการเมืองนั้นยาก และถูกยุบง่าย ว่า การตั้งสมาชิก 500 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม เพราะจำนวนที่ กกต. เสนอมานั้น สูงถึง 5,000 คน ขณะที่การยุบพรรคนั้น ในกฎหมายระบุไว้ชัดเจน เช่น การไปรับเงินจากต่างประเทศ หรือเป็นความผิดรุนแรง ที่เป็นภัยต่อประเทศ และประชาชน ส่วนการจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคนั้น ไม่ได้เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 258 ที่การปฏิรูปพรรคการเมือง สมาชิกจะต้องมีส่วนร่วม และความรับผิดชอบอย่างแท้จริง
ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรธ. ได้ขอให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ไปสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนร้อยละ 78.8 เห็นว่า สมาชิกพรรคการเมืองควรเสียค่าสมาชิก ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 18.8 เห็นว่าควรเก็บเกิน 200 บาทต่อปี และร้อยละ 13 ควรเก็บ 100 บาทต่อปี ซึ่ง กรธ. ก็ได้ลดหย่อนให้พรรคการเมืองไว้ในบทเฉพาะกาล ให้สมาชิกในพรรคการเมืองเก่าจ่ายค่าบำรุงพรรค 50 บาท จากนั้นจึงค่อยขยับขยายไป เพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง
นายมีชัย ยังชี้แจงถึงกรณีการตัดสัดส่วนของผู้แทนพรรคการเมืองจากองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองว่า เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมือง ที่ไม่มีผู้แทนในคณะกรรมการ และชี้แจงถึงการกำหนดบทลงโทษในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่าได้พิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หาก สนช. เห็นว่า โทษใดที่รุนแรงเกินไปและจะปรับลด กรธ. ก็ยอมรับ
จากนั้น สนช. มีมติรับหลักการวาระ 1 ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 175 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 31 คนจาก สนช. 25 คน กรธ. 2 คน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี กรรมการการเลือกตั้ง และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และกฤษฎีกาหน่วยงานละ 1 คน พิจารณา 45 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีทั้งสิ้น 129 มาตรา สาระสำคัญของ กรธ.มุ่งหวังให้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของประชาชนอย่างแท้จริง ในการเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาประเทศ ตั้งเป้าให้ได้นักการเมืองที่ดี ทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง กำหนดให้สมาชิกร่วมจัดตั้งพรรคเริ่มแรกจำนวน ไม่เกินกว่า 500 คน และร่วมกันจ่ายเงินทุนประเดิมคนละ 1 พันบาท แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท ซึ่งรวมแล้วจะต้องมีทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคไม่เกิน 1 ล้านบาท และยังกำหนดห้าม ส.ส.ของพรรคการเมืองรับเงินจากบุคคลภายนอก หากฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ตามกฎหมายอาญา
ขณะเดียวกัน ให้พรรคการเมืองที่จดทะเบียนก่อนกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกให้ได้ 500 คน ภายใน 180 วัน เพื่อรักษาสถานภาพพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองที่สามารถเก็บค่าบำรุงตามที่กำหนดจะสามารถส่งสมาชิกลงเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ 4 ประการ ทั้งการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับระบบการปกครอง การเสนอแนวทางพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาในสังคม การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ให้เกิดสามัคคีปรองดอง
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของ สนช.นั้นจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง ซึ่งการพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้งและร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้ง 2 ฉบับในวันนี้ กรธ. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 16 มิถุนายน .-สำนักข่าวไทย