รัฐสภา 20 เม.ย.- สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติวาระแรก ขณะที่รัฐบาล ย้ำ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเรื่องดี ทำให้เห็นแผนและเป้าหมายการพัฒนาประเทศ มั่นใจ การพิจารณากฎหมายไม่ขัดม.77 เพราะ สปท.เปิดรับฟังความเห็นมารอบด้าน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (20 เม.ย.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลในร่างกฎหมาย ว่า เป็นร่างกฎหมายที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติภายใน 120 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จากนั้นคณะกรรมการจะต้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติภายใน 1 ปี ซึ่งการกำหนดแผนและงบประมาณต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญเหนือแผนทั้งหมด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กร หากไม่ปฏิบัติตามจะมีมาตรการตั้งแต่ตักเตือนไปถึงการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป พร้อมยืนยันว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้าระยะยาว 20 ปี เป็นเรื่องที่ดี ที่จะสามารถเห็นถึงแผนการพัฒนาประเทศ ทำให้สะดวกต่อการจัดทำงบประมาณ และการลงทุนของประเทศ
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่การพิจารณากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า ร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และเพียงพอแล้ว โดยเฉพาะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ดำเนินการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งหากจะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นอีก อาจจะไม่กรอบการดำเนินการ 120 วัน
ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เพราะเห็นว่าจะทำให้การพัฒนาประเทศเกิดความต่อเนื่อง และมองเห็นอนาคตของประเทศในระยะยาว แต่มีการตั้งข้อสังเกตถึงสัดส่วนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ที่มีบุคลากรจากกองทัพมากเกินไป จนเหมือนกันการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันเห็นว่า บทลงโทษผู้ที่ไม่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ครอบคลุมถึงฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกียร์ว่าง รวมทั้งคำนิยามการพิจารณาโทษที่ขาดความชัดเจน จนอาจกลายเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายการเมืองรังแกข้าราชการประจำได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการสร้างแรงจูงใจ กรณีที่หน่วยงานใดสามารถดำเนินการได้ตามแผน พร้อมเห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์จะต้องไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน และควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยคะแนน 196 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 33 คน กำหนดแปรญัตติ 15 วัน กรอบเวลาการทำงาน 60 วัน ทั้งนี้ หนึ่งในคณะกรรมาธิการฝั่งคณะรัฐมนตรี มีชื่อของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมด้วย.-สำนักข่าวไทย