ทำเนียบฯ 19 เม.ย. – คนร.สั่ง ขสมก.จัดซื้อรถเมล์ชุดใหม่ หลังยกเลิกรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เตรียมปลดเอสเอ็มอีแบงก์ออกจากแผนฟื้นฟู มิ.ย.นี้ สั่งกำหนดเคพีไอให้กระทรวงเจ้าสังกัดติดตามงานรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาการแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง สั่งการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งจัดซื้อรถเมล์เข้ามาให้บริการประชาชน หลังจากรัฐบาลยกเลิกรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน จากบริษัท เบสท์ริน ซึ่งมีปัญหาหลีกเลี่ยงภาษีการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งการจัดซื้อและปรับปรุงสภาพรถเมล์เดิม ผู้บริหาร ขสมก.ยอมรับว่าขั้นตอนการจัดซื้อดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากเงื่อนไขและสัญญากำหนดไว้ในแผนงานแล้ว จึงเร่งดำเนินการได้และให้จัดหารถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาวิ่งให้บริการ 50 คันต่อไตรมาส เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
นอกจากนี้ ที่ประชุม คนร.ยังสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งตั้งบริษัทลูกเข้ามาบริหารสินทรัพย์ที่มีจำนวนมากให้เกิดมูลค่าผ่านการทำตลาดเชิงรุกและเพิ่มรายได้ทดแทนค่าโดยสาร เพื่อฟื้นฟูองค์กร ซึ่งมีปัญหาด้านรายได้ ในส่วนของการบินไทย แม้จะมีผลประกอบการเริ่มดีขึ้น แต่ต้องปรับช่องทางการจำหน่ายตั๋วออนไลน์ และต้องเดินหน้าควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนขององค์กร ส่วนรัฐวิสาหกิจการสื่อสาร สั่งการให้แยกภารกิจให้ชัดเจน หลังตั้งบริษัทลูกของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) คือ บริษัทโครงข่ายบอร์ดแบรนด์แห่งชาติ (NBN) เพื่อเน้นตลาดในประเทศ ขณะที่บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC) เน้นธุรกิจต่างประเทศ เพื่อต้องการให้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน 2,500-3,000 หมู่บ้านในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคให้ได้ตามแผน
สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ยังมีผลดำเนินงานล่าช้ากว่าแผน จึงเร่งให้เจรจาหาพันธมิตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นกระทรวงการคลังพร้อมเพิ่มทุนดำเนินกิจการเพิ่มสภาพคล่องให้ ยอมรับว่าไอแบงก์อาการหนักหลังมีปัญหาหนี้เสีย NPF กว่า 50,000 ล้าบาท ยอดเกินครึ่งของการปล่อยสินเชื่อ เมื่อตั้ง AMC บริหารหนี้ดีทั้งเงินฝากและทรัพย์สินแล้ว ต้องเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้องค์กร ขณะที่ธนาคาพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) คนร.พอใจ เนื่องจากมีความคืบหน้ามาก ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลงต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท จากเดิม 18,000 ล้านบาท และการปล่อยสินเชื่อรายย่อย 15 ล้านบาท กระจายออกไปมากขึ้น หากผลงานดีตามเป้าหมาย เดือนมิถุนายนนี้เตรียมถอดออกจากแผนฟื้นฟูองค์กร
นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมสั่งจัดทำเคพีไอของคณะกรรมการ ผู้บริหาร รัฐวิสาหกิจที่เข้าแผนฟื้นฟู กำชับให้กระทรวงเจ้าสังกัดกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เพื่อเร่งติดตามปัญหารัฐวิสาหกิจให้คืบหน้าเป็นไปตามแผน เพื่อต้องการนำผลการวัดเคพีไอประเมินผลงานของแต่ละกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ.-สำนักข่าวไทย