สำนักข่าวไทย 19 เม.ย.-เลขาศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาติงอุดม ศึกษาไทย ชี้หลังเปิดให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ม.รัฐแข่งสร้างรายได้ ทำ ม.เอกชนเดือดร้อน เร่งรับ นศ.จำนวนมากด้วยค่าเรียนที่ถูกแต่ไม่สนใจคุณภาพผู้เรียน เสนอ สกอ.แก้ปัญหาจริงจัง
นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยถึงกรณีปัญหาการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หลังที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหา 10 แห่ง ใน 98 หลักสูตร และมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเอกไม่ได้มาตรฐานใน 8 หลักสูตรซึ่งมีผู้ร้องเรียนว่าจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบตามที่กำหนด และรับนักศึกษาเกินจำนวนที่แจ้งไว้ ว่า หลักสูตรที่พบว่าไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาที่จบง่ายและไม่ต้องลงทุนมาก อาทิ ศึกษาศาสตร์และบริหารธุรกิจ ตนมองว่าหลังเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ละแห่งจึงต้องเลี้ยงตัวเอง อีกทั้งมหาวิทยาลัยรัฐหลงลืมหน้าที่ตนเอง เปิดหลักสูตรแข่งกับมหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เพื่อหารายได้ มหาวิทยาลัยเอกชนจึงต้องเร่งรับนักศึกษาปริมาณมากจนลืมใส่ใจคุณภาพ กำหนดระยะเวลาเรียนให้น้อยกว่าปกติ บางครั้งเพียงจ่ายเงินค่าเทอมครบ มหาวิทยาลัยก็จะอนุมัติให้จบได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่แหกกฎของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) บางหลักสูตรแจ้ง สกอ.ว่าปิดหลักสูตรไปแล้ว แต่ยังพบว่าไม่ได้ปิดจริง
ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐเอง แทนที่จะทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะด้าน เน้นทำวิจัยเชิงลึกสร้างองค์ความรู้ใหม่ กลับเปิดหลักสูตรที่ไม่ถนัด ขยาย ตัวไปเปิดวิทยาเขตต่างจังหวัด ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยท้องถิ่นอย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชมงคล ก็ยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยเล็กๆ ขาดรายได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบให้คุณภาพการศึกษาไทยและคุณภาพของคนแย่ลงเรื่อยๆ
นายวีรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไข ตนเสนอให้มหาวิทยาลัยรัฐเปิดหลักสูตรที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตรงความถนัดของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางการเงินได้มากกว่าการจะไปเปิดหลักสูตรแข่งกับมหาวิทยาลัยเอกชนหรือท้องถิ่น สกอ.ควรมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หากตรวจสอบแล้วไม่ได้มาตรฐานบ่อยครั้ง ก็ควรสั่งปิดหลักสูตร และควรตั้งหน่วยงานร้องทุกข์สังกัด สกอ.เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายชี้ช่องทางฟ้องร้องคดี ส่วนกระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดหน้าที่มหาวิทยาลัยให้ชัดเจน ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและปล่อยมหาวิทยาลัยเป็นอิสระมากเกินไปไม่ได้
สำหรับ 20 หลักสูตรในที่ตั้ง พบปัญหาใน 8 มหาวิทยาลัย ดังนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร , มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ 2 หลักสูตร , มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร , มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร , มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร , วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร , วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร และสถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หลักสูตร
ขณะที่หลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร พบปัญหาใน 5 มหาวิทยาลัย ดังนี้มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์26 หลักสูตร,มหาวิทยาลัยพิษณุโลก1ศูนย์ 2 หลักสูตร ,วิทยาลัยทองสุข 7ศูนย์ 11หลักสูตร , สถาบันเทคโนโลยีแห่ง อโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร , สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร.-สำนักข่าวไทย