กรมศิลปากร 8 ส.ค. 63 – สทน. จับมือกรมศิลปากร ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์สนับสนุนงานด้านโบราณคดีของชาติต่อเนื่องอีก 5 ปี
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับกรมศิลปากร ลงนามความร่วมมือ ต่ออายุความร่วมมือทางวิชาการอีก 5 ปี เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของชาติ ณ กรมศิลปากร (เทเวศร์)
รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจสอบหาอายุของโบราณวัตถุ เพราะเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ที่ไม่ทำลายตัวอย่าง หรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน. มีห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสี และใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ สำหรับใช้ตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมากว่า 10 ปี โดยใช้เทคนิคในการวิเคราะห์ 2 แบบ คือ การวิเคราะห์โดยอาศัยคาร์บอน -14 (C-14dating) และการวิเคราะห์อายุโดยการเรืองแสงความร้อน (TL/OSL dating)
ซึ่งจากการขยายความร่วมมือของ 2 หน่วยงานในอีก 5 ปีนี้ จะมีการดำเนินการร่วมกันเพิ่มเติม ได้แก่ 1.งานวิจัยและพัฒนา 2.การสำรวจ วิเคราะห์ และเก็บตัวอย่าง 3.การเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ มั่นใจว่าจะยกระดับความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรทั้งสองฝ่าย นำมาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งในด้านห้องปฏิบัติการไอโซโทป ของ สทน. ยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มั่นใจได้ว่าห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีของ สทน. มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.ศศิพันธ์ คะวีรัตน์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของไทย เทียบได้กับระดับโลก มีเทคนิคที่ใช้งานเกือบครบถ้วน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาใช้เทคนิคให้เหมาะสมกับโบราณวัตถุที่มีลักษณะเฉพาะของคนไทย การตรวจวิเคราะห์มีความถูกต้องแม่นยำระดับสูง จึงไม่ต้องส่งชิ้นส่วนของโบราณวัตถุไปตรวจสอบอายุในต่างประเทศเหมือนในอดีต ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ยังได้ตั้งเป้า ทำแผนข้อมูลโบราณวัตถุของประเทศชาติ ในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น พระพุทธรูปสำริด เครื่องทองโบราณ เครื่องปั้นดินเผา
ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลของโบราณวัตถุสำคัญของประเทศ ร่วมทั้งการพัฒนาใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการอนุรักษ์โบราณวัตถุในเสื่อมสภาพช้าลง ทั้งนี้ตัวอย่างผลงานที่ สทน. และกรมศิลปากร ร่วมกันวิจัยพัฒนา เช่นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกันวิเคราะห์ทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทองคำโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ จัดทำข้อมูลนำเสนอไว้ในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา เป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศได้อย่างถูกต้อง .-สำนักข่าวไทย