ผู้นำศรีลังกาเผยจีนยอมปรับโครงสร้างหนี้ให้

โคลัมโบ 7 มี.ค.- ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเหของศรีลังกาเผยว่า จีนตกลงที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ศรีลังกา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) จะให้เงินช่วยเหลือแก่ศรีลังกา ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหแถลงต่อรัฐสภาว่า ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีนได้ส่งจดหมายถึงไอเอ็มเอฟเมื่อคืนวันจันทร์ แสดงความพร้อมที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ศรีลังกา เขาจึงได้รีบลงนามจดหมายแสดงเจตนาจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการของไอเอ็มเอฟทันที และคาดหวังว่า ไอเอ็มเอฟจะปล่อยเงินช่วยเหลืองวดแรกให้แก่ศรีลังกาได้ภายในเดือนนี้ ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้จำนวน 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.58 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือนเมษายน ปี 2565 ช่วงที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงนานหลายเดือน หนี้ที่ผิดนัดชำระจำนวน 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 483,483 ล้านบาท) เป็นหนี้ทวิภาคีกับรัฐบาลต่างชาติ และในจำนวนนี้ร้อยละ 52 เป็นหนี้ของรัฐบาลจีน รัฐบาลศรีลังกากำลังหาทางขอเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟจำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100,150 ล้านบาท) เพื่อกอบกู้ฐานะการคลังที่ย่ำแย่ และได้ประกาศใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เช่น ขึ้นภาษี ยกเลิกการให้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ขายกิจการของรัฐที่ขาดทุน.-สำนักข่าวไทย

ชาวศรีลังกานัดหยุดงานท้าทายคำสั่งห้ามประท้วง

โคลัมโบ 1 มี.ค.- คนทำงานชาวศรีลังกาพากันนัดหยุดงานในวันนี้ ท้าทายคำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามการประท้วงต่อต้านแผนการกอบกู้ประเทศที่อยู่ในภาวะล้มละลาย การนัดหยุดงานทำให้โรงพยาบาล ธนาคารและท่าเรือต้องปิดทำการ สหภาพแรงงานประมาณ 40 แห่ง เรียกร้องให้สมาชิกนัดหยุดงานในวันนี้ โดยอ้างว่าได้รับแจ้งจากประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห เมื่อวันเสาร์ว่า ไม่สามารถลดภาษีรายได้ให้ประชาชน เนื่องจากเป็นเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่จะให้เงินช่วยเหลือศรีลังกา แพทย์โรงพยาบาลแห่งชาติศรีลังกาในกรุงโคลัมโบเผยว่า จะรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนการนัดตรวจผู้ป่วยตามคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนถูกยกเลิกทั้งหมด ประธานสมาคมบุคคลากรทางการแพทย์ของรัฐบาลเผยว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวให้หนักขึ้นเพราะคิดว่าการนัดหยุดงานเพียงวันเดียวจะไม่สามารถเปลี่ยนใจทางการได้ ขณะที่คนทำงานด้านการไฟฟ้า พนักงานธนาคารและคนงานท่าเรือก็นัดหยุดงานในวันนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าประธานาธิบดีวิกรมสิงเหใช้อำนาจบริหารเมื่อวันอังคารสั่งห้ามการนัดหยุดงาน และบังคับให้คนทำงานในภาคบริการจำเป็นต้องทำงาน ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ออก ชาวศรีลังกากำลังไม่พอใจประธานาธิบดีวิกรมสิงเหที่ขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ หลังจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) เมื่อเดือนเมษายน 2565 และกำลังรอความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ระดับทวิภาคีรายใหญ่ที่สุด ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อปลายปี 2564 ส่งผลให้ขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง ยา ประชาชนออกมาประท้วงหลายเดือนจนกระทั่งขับไล่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาในเดือนกรกฎาคม ส่วนประธานาธิบดีวิกรมสิงเหที่ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งเผยว่า เศรษฐกิจศรีลังกาปี 2565 หดตัวร้อยละ 11 และจะอยู่ในภาวะล้มละลายไปจนถึงปี 2569 เป็นอย่างน้อย.-สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาขึ้นค่าไฟอีกตามเงื่อนไขขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ

โคลัมโบ 16 ก.พ.- ศรีลังกาประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าอีกเกือบ 3 เท่า เป็นการขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบไม่กี่เดือน ตามเงื่อนไขการขอเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เนื่องจากประเทศอยู่ในฐานะล้มละลาย นายกันชนะ วิเยสเกรา รัฐมนตรีพลังงานศรีลังกาเผยหลังจากคณะกรรมการการไฟฟ้าประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าอีกร้อยละ 275 ในวันนี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่าย การขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งล่าสุดจะทำให้ครัวเรือนในศรีลังกาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 30 รูปี (ราว 2.81 บาท) ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง หลังจากจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 264 มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หลังจากจ่ายเพิ่มขึ้นมาแล้วร้อยละ 80 รัฐมนตรีพลังงานศรีลังการะบุว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าจะทำให้การไฟฟ้าของรัฐไม่ต้องดับไฟวันละ 140 นาทีอีกต่อไป เพราะรัฐบาลจะมีเงินซื้อเชื้อเพลิงที่จะช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ ศรีลังกาเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2565 ประชาชน 22 ล้านคนต้องเดือดร้อนเป็นเวลาหลายเดือนจากการขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และถูกตัดกระแสไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมง รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.57 ล้านล้านบาท) และกำลังเจรจาสรุปข้อตกลงความช่วยเหลือกับไอเอ็มเอฟเพื่อกอบกู้ฐานะการเงินที่ล้มละลาย ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห […]

ศรีลังกาแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อรักษาชีวิตช้าง

รัฐบาลศรีลังกาประกาศวันนี้ว่า จะออกคำสั่งห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลังจากพบว่า ช้างป่าและกวางเป็นจำนวนมากต้องเสียชีวิตเนื่องจากได้รับสารพิษจากพลาสติกที่กินเข้าไป

อดีต ปธน. ศรีลังกาถูกสอบปากคำกรณีซ่อนเงินจำนวนมาก

ตำรวจศรีลังกากล่าววันนี้ว่า ได้สอบปากคำอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ที่ถูกกดดันให้พ้นจากตำแหน่ง กรณีที่ผู้ประท้วงบุกจู่โจมบ้านพักของเขาเมื่อปีที่แล้วและพบเงินสดจำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในบ้าน

เร่งฟื้นฟูสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างไทยในศรีลังกา

รัฐบาลไทยกำลังประสานงานกับรัฐบาลศรีลังกา เพื่อนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้าง 1 ใน 3 เชือก ที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา กลับมารักษาที่ประเทศไทย หลังจากตรวจสอบพบว่า สุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ไม่ดี

ศรีลังกาปิด ร.ร.ทั่วประเทศหลังไซโคลนดึงมลพิษมาจากอินเดีย

โคลัมโบ 9 ธ.ค. – ศรีลังกาสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศในวันนี้ เนื่องจากเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศในระดับสูง ในขณะที่พายุไซโคลนมันดุซ (Mandous) ได้พัดถล่มชายฝั่งของศรีลังกา จนทำให้มีฝนตกหนักและลมแรง โดยคาดว่าไซโคลนลูกนี้จะเคลื่อนตัวขึ้นชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียในช่วงเที่ยงคืนวันนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สภาพท้องฟ้าในกรุงโคลัมโบและอีกหลายเมืองของบังกลาเทศมีเมฆมืดครึ้มและฝนตกประปราย ในขณะเดียวกัน พายุไซโคลนมันดุซที่พัดถล่มชายฝั่งของศรีลังกาก็ได้ดึงมลพิษจากอินเดียเข้ามายังศรีลังกา จนทำให้หน่วยงานสาธารณสุขของศรีลังกาต้องสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศเป็นการชั่วคราวในวันนี้ และแจ้งเตือนให้เด็กเล็กกับผู้สูงวัยเก็บตัวอยู่ในบ้าน ส่วนองค์กรวิจัยด้านการสร้างชาติของศรีลังกา (NBRO) ระบุในแถลงการณ์ว่า คุณภาพอากาศในศรีลังกาอาจมีแนวโน้มดีขึ้นในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ไซโคลนมันดุซกำลังเคลื่อนตัวออกจากศรีลังกา เจ้าหน้าที่ของทางการอินเดียระบุว่า ได้สั่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเกือบ 400 คน ลงพื้นที่ในรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งมีนครเจนไนเป็นเมืองเอกและตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของอินเดีย พร้อมเตือนให้ประชาชนเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและเตรียมย้ายออกจากที่พักอาศัยไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ในขณะที่ไซโคลนมันดุซกำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียในช่วงเที่ยงคืนวันนี้ ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดียแจ้งก่อนหน้านี้ว่า ไซโคลนมันดุซได้อ่อนกำลังลงจากระดับรุนแรงแล้ว แต่เตือนว่าอิทธิพลของไซโคลนอาจทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์มเซิร์จ เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวชายฝั่งทางเหนือของรัฐทมิฬนาฑูและเมืองปุฑุเจรีที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ทั้งยังระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงพื้นที่ทางเหนือของรัฐอานธรประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังแจ้งเตือนว่า บ้านเรือน เสาไฟฟ้า และเสาโทรคมนาคมที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าวอาจได้รับความเสียหายจากไซโคลนลูกนี้เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย

“พลายศักดิ์สุรินทร์” ในศรีลังกาอาการดีขึ้น

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุถึงอาการของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งเป็นช้างรัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกาว่า ดีขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ร่างกายทรุดโทรมซูบผอม แต่ยังมีภาวะบาดเจ็บที่ขาเนื่องจากเดินทำงานหนัก ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์ที่ส่งไปยังคงรักษาและติดตามอาการต่อเนื่อง โดยได้ส่งควาญจากจังหวัดสุรินทร์ไปร่วมดูแลตลอดเวลาด้วย

ศรีลังกาเผยจะยังคงสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา ระบุว่า ศรีลังกาจะยังคงสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง’ ต่อไป แต่จะขอให้ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ อนุมัติเงินกู้บางส่วนที่นำไปช่วยเหลือประเทศยากจนให้แก่ศรีลังกา ซึ่งถือเป็นการแก้ไขคำพูดของโฆษกรัฐบาลศรีลังกาที่ระบุว่า ศรีลังกาจะลดสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ต่ำ’

ครม. ศรีลังกาเห็นชอบปรับลดสถานะเป็นประเทศรายได้ต่ำ

โคลัมโบ 11 ต.ค. – คณะรัฐมนตรีศรีลังกามีมติเห็นชอบข้อเสนอปรับให้ศรีลังกาลดสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ต่ำ’ จากเดิมที่เป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ’ เพื่อให้ศรีลังกามีโอกาสเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โฆษกของรัฐบาลศรีลังกาเผยวันนี้ว่า คณะรัฐมนตรีศรีลังกาได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอปรับให้ศรีลังกาลดสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำในบัญชีจำแนกสถานะประเทศตามระดับรายได้ของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ จากเดิมที่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศที่ระบุว่า การปรับลดสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำจะทำให้ศรีลังกาเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2491 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของศรีลังกา ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การใช้นโยบายประชานิยมลดหย่อนภาษี และคำสั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีนานถึง 7 เดือนเมื่อปีก่อนจนทำให้ภาคการเกษตรเสียหายหนัก จนทำให้ศรีลังกาขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นต่าง ๆ เช่น อาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เศรษฐกิจของศรีลังกาในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวสูงถึงร้อยละ 8.4 ขณะที่ธนาคารกลางของศรีลังกาคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เศรษฐกิจศรีลังกาอาจหดตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 8.7 ในปีนี้ ส่วนข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ศรีลังกามีค่าจีดีพีต่อประชากรอยู่ที่ 3,815 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 145,600 บาท) ในปี 2564 และจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ. -สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาห้ามเจ้าหน้าที่รัฐแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย

โคลัมโบ 28 ก.ย. – รัฐบาลศรีลังกาสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนโพสต์อ้างว่า มีเด็กนักเรียนหลายคนเป็นลมที่โรงเรียนเพราะปัญหาขาดแคลนอาหารที่เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ กระทรวงบริหารจัดการสาธารณะของศรีลังการะบุในแถลงการณ์วันนี้สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย เจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะถูกลงโทษทางวินัย คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐราว 1.5 ล้านคนให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว คำสั่งล่าสุดนี้ยังมีขึ้นหลังจากที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคุณครูในพื้นที่ชนบทของศรีลังกาออกมาอ้างว่า มีเด็กนักเรียนหลายสิบคนเป็นลมที่โรงเรียนเพราะปัญหาขาดแคลนอาหาร ในขณะเดียวกัน นายเคเฮลิยา รัมบุคเวลลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของศรีลังกา ปฏิเสธว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งยังระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางกลุ่มที่ต้องการประโคมปัญหาขาดแคลนอาหารให้รุนแรงเกินจริงเพื่อหวังผลทางการเมือง อย่างไรก็ดี โครงการอาหารโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุในรายงานล่าสุดว่า มีชาวศรีลังกา 6 ล้านคน หรือราวร้อยละ 33 จากประชากรทั้งหมด 22 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารและต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ ชาวศรีลังกาต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 หลังรัฐบาลศรีลังกาประสบปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็น. -สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 5 6 29
...