ครม. ศรีลังกาเห็นชอบปรับลดสถานะเป็นประเทศรายได้ต่ำ

โคลัมโบ 11 ต.ค. – คณะรัฐมนตรีศรีลังกามีมติเห็นชอบข้อเสนอปรับให้ศรีลังกาลดสถานะเป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ต่ำ’ จากเดิมที่เป็น ‘ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ’ เพื่อให้ศรีลังกามีโอกาสเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โฆษกของรัฐบาลศรีลังกาเผยวันนี้ว่า คณะรัฐมนตรีศรีลังกาได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอปรับให้ศรีลังกาลดสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำในบัญชีจำแนกสถานะประเทศตามระดับรายได้ของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ จากเดิมที่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศที่ระบุว่า การปรับลดสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำจะทำให้ศรีลังกาเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2491 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของศรีลังกา ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การใช้นโยบายประชานิยมลดหย่อนภาษี และคำสั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีนานถึง 7 เดือนเมื่อปีก่อนจนทำให้ภาคการเกษตรเสียหายหนัก จนทำให้ศรีลังกาขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นต่าง ๆ เช่น อาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เศรษฐกิจของศรีลังกาในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวสูงถึงร้อยละ 8.4 ขณะที่ธนาคารกลางของศรีลังกาคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เศรษฐกิจศรีลังกาอาจหดตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 8.7 ในปีนี้ ส่วนข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ศรีลังกามีค่าจีดีพีต่อประชากรอยู่ที่ 3,815 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 145,600 บาท) ในปี 2564 และจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ. -สำนักข่าวไทย

ศรีลังกาห้ามเจ้าหน้าที่รัฐแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย

โคลัมโบ 28 ก.ย. – รัฐบาลศรีลังกาสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนโพสต์อ้างว่า มีเด็กนักเรียนหลายคนเป็นลมที่โรงเรียนเพราะปัญหาขาดแคลนอาหารที่เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ กระทรวงบริหารจัดการสาธารณะของศรีลังการะบุในแถลงการณ์วันนี้สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย เจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะถูกลงโทษทางวินัย คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐราว 1.5 ล้านคนให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว คำสั่งล่าสุดนี้ยังมีขึ้นหลังจากที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคุณครูในพื้นที่ชนบทของศรีลังกาออกมาอ้างว่า มีเด็กนักเรียนหลายสิบคนเป็นลมที่โรงเรียนเพราะปัญหาขาดแคลนอาหาร ในขณะเดียวกัน นายเคเฮลิยา รัมบุคเวลลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของศรีลังกา ปฏิเสธว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งยังระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางกลุ่มที่ต้องการประโคมปัญหาขาดแคลนอาหารให้รุนแรงเกินจริงเพื่อหวังผลทางการเมือง อย่างไรก็ดี โครงการอาหารโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุในรายงานล่าสุดว่า มีชาวศรีลังกา 6 ล้านคน หรือราวร้อยละ 33 จากประชากรทั้งหมด 22 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารและต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ ชาวศรีลังกาต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 หลังรัฐบาลศรีลังกาประสบปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็น. -สำนักข่าวไทย

อัตราเงินเฟ้อศรีลังกาพุ่งกว่า 70% ในเดือน ส.ค.

โคลัมโบ 22 ก.ย. – อัตราเงินเฟ้อศรีลังกาพุ่งสูงถึงร้อยละ 70.2 ในเดือนสิงหาคม ในขณะที่ศรีลังกายังคงรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบกว่า 70 ปี ข้อมูลของทางการศรีลังการะบุว่า ศรีลังกามีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึงร้อยละ 70.2 ในเดือนสิงหาคม และราคาอาหารก็พุ่งสูงถึงร้อยละ 84.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะนี้ ศรีลังกายังคงไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศได้ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย และยารักษาโรค เนื่องจากเผชิญกับวิกฤตทางการเงินและการเมืองครั้งใหญ่ในปีนี้ รวมถึงปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของศรีลังกาเผยในเดือนสิงหาคมว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศชะลอการขยายตัว หลังจากเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดถึงร้อยละ 70 บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19  ศรีลังกาพึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศ เช่น สกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคโควิดทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการระบาดจนทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ศรีลังกา ซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน ยังต้องเผชิญกับเหตุวุ่นวายทางการเมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนทำให้อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา หลบหนีออกนอกประเทศและประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุประท้วงรุนแรงของผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนบนท้องถนนเพื่อประท้วงเรื่องราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่กล่าวโทษรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีราชปักษาว่าบริหารงานผิดพลาดในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ . […]

รัฐบาลศรีลังกาจัดที่พักและรปภ. ให้ อดีตประธานาธิบดี

รัฐบาลศรีลังกาจัดหาที่พักอย่างเป็นทางการและอำนวยความสะดวกเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เมื่อเขาเดินทางกลับถึงศรีรลังกา ในวันนี้ หลังจากต้องหลบออกนอกประเทศในระหว่างที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม

คาด “ราชปักษา” จะเดินทางกลับถึงศรีลังกาวันนี้

โคลัมโบ 2 ก.ย. – นายโกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีของศรีลังกา อาจเดินทางกลับศรีลังกาอย่างเร็วที่สุดในวันนี้ หลังจากที่เขาหลบหนีออกนอกประเทศในเดือนกรกฎาคมจากเหตุประท้วงบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี หนังสือพิมพ์เดอะสเตรทไทม์สของสิงคโปร์ รายงานอ้างแหล่งข่าวไม่เผยนามว่า นายราชปักษาอาจเดินทางกลับศรีลังกาอย่างเร็วที่สุดในวันนี้ และคาดว่าจะอาศัยอยู่ในบ้านพักที่รัฐบาลศรีลังกาจัดเตรียมไว้ในกรุงโคลัมโบ ขณะที่โฆษกรัฐบาลศรีลังกายืนยันกับเดอะสเตรทไทม์สว่า นายราชปักษาจะเดินทางกลับศรีลังกาในวันนี้จริง นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นของศรีลังกาก็ยังรายงานเกี่ยวกับข่าวการคาดการณ์ว่า นายราชปักษาอาจเดินทางกลับถึงศรีลังกาเป็นครั้งแรกในวันนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของทำเนียบประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้ ทั้งนี้ ข่าวการเดินทางกลับประเทศของนายราชปักษาชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยในประเทศได้หลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรงเพื่อขับไล่นายราชปักษาให้ลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ ก่อนหน้านี้ นายราชปักษา ได้หลบหนีออกนอกประเทศหลังกลุ่มผู้ประท้วงบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาเพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม เขาได้เดินทางไปเกาะมัลดีฟส์ก่อนออกเดินทางไปยังสิงคโปร์และประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 14 กรกฎาคม ก่อนย้ายมาพำนักอยู่ในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม.-สำนักข่าวไทย 

เผย “ราชปักษา” อาจกลับศรีลังกาต้นเดือน ก.ย.

โคลัมโบ 24 ส.ค. – อดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกา อาจเดินทางกลับศรีลังกาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังอดีตผู้นำศรีลังกาต้องหลบหนีออกนอกประเทศจากเหตุประท้วงรุนแรงไปเกาะมัลดีฟส์ สิงคโปร์ และพำนักอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ไม่เผยนามในรัฐบาลศรีลังกาที่ระบุว่า อดีตประธานาธิบดีราชปักษาต้องการเดินทางกลับประเทศ แต่หน่วยข่าวกรองศรีลังกาแนะให้เขาเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน เพราะวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย ทั้งยังระบุว่า อดีตผู้นำศรีลังกาอาจเดินทางกลับประเทศในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้น หากเสร็จสิ้นการเตรียมการเรื่องรักษาความปลอดภัยแล้ว ขณะที่แหล่งข่าวไม่เผยนามอีกรายระบุว่า อดีตประธานาธิบดีราชปักษากำลังประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายราคาสูงขณะพำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องบินส่วนตัว ค่าที่พัก และค่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ประเด็นนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเร่งหาทางกลับประเทศโดยเร็วที่สุด ก่อนหน้านี้ สื่อของศรีลังการายงานว่า อดีตประธานาธิบดีราชปักษาอาจเดินทางกลับศรีลังกาในวันนี้ ขณะที่พรรครัฐบาลศรีลังกาได้เข้าพบประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา เพื่อขอให้ผู้นำศรีลังกาช่วยเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางกลับประเทศของอดีตประธานาธิบดีราชปักษา ด้านประธานาธิบดีวิกรมสิงเหเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เขายังไม่ทราบเรื่องการวางแผนเดินทางกลับประเทศของอดีตประธานาธิบดีราชปักษา ทั้งยังระบุว่า หากอดีตผู้นำศรีลังกาถูกสอบสวนว่ากระทำความผิดทางกฎหมาย ก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายของศรีลังกา.-สำนักข่าวไทย

พรรครัฐบาลวอนผู้นำศรีลังกาช่วย “ราชปักษา” กลับประเทศ

พรรครัฐบาลศรีลังกาขอให้ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา ตั้งทีมรักษาความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลืออดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เดินทางกลับประเทศ หลังอดีตผู้นำศรีลังกาต้องหลบหนีออกจากศรีลังกาไปเกาะมัลดีฟส์ สิงคโปร์ และพำนักอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ศรีลังกา ตามความเหมาะสม

นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามที่ได้รับการร้องขอจากประเทศศรีลังกา ตามความเหมาะสม

เรือวิจัยจีนเทียบท่าศรีลังกา แม้อินเดีย-สหรัฐติงเรื่องจารกรรม

โคลัมโบ 16 ส.ค.- เรือวิจัยของจีนเทียบท่าท่าเรือทางใต้ของศรีลังกาในวันนี้ แม้อินเดียและสหรัฐแสดงความกังวลว่าเรือจีนอาจจะมาทำการจารกรรม เรือหยวนวั่ง 5 (Yuan Wang 5) เข้าเทียบท่าท่าเรือน้ำลึกฮัมบันโตตาของศรีลังกาที่อยู่ภายใต้การบริหารของจีน หลังจากทางการศรีลังกาอนุญาตให้เข้าน่านน้ำโดยมีเงื่อนไขห้ามทำการวิจัยใด ๆ เดิมเรือมีกำหนดเทียบท่าตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ศรีลังกาขอให้เลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากได้รับคำท้วงติงจากอินเดียที่มีความกังวลเช่นเดียวกับชาติตะวันตกเรื่องการเคลื่อนไหวของจีนในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการเจรจาอย่างเคร่งเครียด รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศในวันเสาร์ อนุญาตให้เรือจีนเข้าเทียบท่าและให้อยู่ได้นาน 6 วันเพื่อเติมเชื้อเพลิงและบรรทุกสินค้าอื่น ๆ ศรีลังกาไม่ได้จัดวงโยธวาทิตต้อนรับเรือจีน แต่มีกลุ่มนักเต้นและนักดนตรีพื้นเมืองไปแสดงต้อนรับ และมีสมาชิกรัฐสภา 5 คนไปรอที่ท่าเรือ มีกลุ่มชายสวมเสื้อเชิ้ตขาวกางเกงดำยืนโบกธงชาติศรีลังกาและจีนขณะเรือเข้าเทียบท่า เว็บไซต์วิเคราะห์การเดินเรือระบุว่า เรือหย่วนวั่ง 5 เป็นเรือวิจัยและสำรวจ แต่สื่ออินเดียระบุว่า เป็นเรือจารกรรมที่ใช้ได้ 2 วัตถุประสงค์คือ ติดตามอวกาศและดาวเทียม และใช้ปล่อยขีปนาวุธร่อนข้ามทวีป อินเดียกังวลเรื่องที่จีนเพิ่มบทบาทในมหาสมุทรอินเดียและเพิ่มอิทธิพลในศรีลังกา เพราะถือว่ามหาสมุทรอินเดียและศรีลังกาอยู่ในเขตอิทธิพลของอินเดีย อินเดียและสหรัฐหยิบยกประเด็นความมั่นคงขึ้นมาคัดค้านเรื่องเรือจีนเทียบท่าศรีลังกา อินเดียถึงกับยื่นคำร้องแสดงความไม่พอใจต่อศรีลังกา ทำให้เจ้าหน้าที่จีนกล่าวก่อนที่ศรีลังกาอนุญาตว่า เป็นเรื่องไร้ความชอบธรรมอย่างยิ่งที่บางประเทศยกเรื่องความมั่นคงมากดดันศรีลังกา ในช่วงที่ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ศรีลังกากู้ยืมเงินจำนวนมากจากจีนระหว่างปี 2548-2558 และได้ยกท่าเรือฮัมบันโตตาให้จีนบริหารตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายบริษัทจีนที่สร้างท่าเรือแห่งนี้ด้วยงบประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 49,602 […]

“โกตาบายา ราชปักษา” อดีต ปธน.ศรีลังกา เดินทางถึงไทย

นายโกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศ เดินทางถึงไทยเมื่อคืนที่ผ่านมา หวังหาที่พักพิงชั่วคราวในประเทศที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังหลบหนีออกจากศรีลังกาเมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางการลุกฮือประท้วงของประชาชน

“ดอน” เผยอดีต ปธน.ศรีลังกา พำนักในไทยได้ไม่เกิน 90 วัน

“ดอน” เผยอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา พำนักในไทยได้ไม่เกิน 90 วันตามกฎหมาย และถือเป็นเรื่องปกติ ข้อสำคัญคือต้องไม่สร้างปัญหาให้ไทย

1 3 4 5 6 7 29
...