fbpx

H&M สอบเรื่องโรงงานในเมียนมากดขี่แรงงาน

ลอนดอน 16 ส.ค.- เอชแอนด์เอ็ม (H&M) ผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกกำลังสอบสวนเรื่องโรงงานผลิตสินค้าในเมียนมาถูกกล่าวหาว่ามีการกดขี่แรงงาน 20 ราย เอชแอนด์เอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสวีเดนแถลงว่า กำลังตรวจสอบทุกกรณีที่ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชนระบุว่า พบการกดขี่แรงงาน 20 รายในโรงงานที่ผลิตสินค้าให้แก่เอชแอนด์เอ็ม บริษัทกำลังแก้ไขผ่านทีมงานท้องถิ่นในพื้นที่ และประสานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ตั้งอยู่ในอังกฤษออกรายงานว่า ตรวจพบการกดขี่แรงงานในโรงงานสิ่งทอเมียนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทั้งหมด 156 ราย เพิ่มขึ้นจาก 56 รายในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น สะท้อนว่าสิทธิแรงงานในเมียนมาเลวร้ายลงตั้งแต่มีการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ข้อกล่าวหากดขี่แรงงานที่พบมากที่สุดคือ การลดค่าจ้างและการโกงค่าจ้าง ตามมาด้วยการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม การให้ทำงานหนักเกินไป และการบังคับทำงานล่วงเวลา ด้านอินดิเท็กซ์ (Inditex) ของสเปนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ซาร่า (Zara) ไม่แสดงความเห็นกรณีที่ถูกระบุในรายงานว่า มีการกดขี่แรงงาน 21 รายเกิดขึ้นในโรงงานที่ผลิตสินค้าให้แก่บริษัท แต่ได้ประกาศเป็นรายล่าสุดว่า จะตัดความสัมพันธ์กับโรงงานผลิตในเมียนมา หลังจากไพรมาร์ค (Primark) และมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ (Marks & Spencer) ประกาศไปเมื่อปี 2565.-สำนักข่าวไทย

“H&M” ในมาเลเซียแจ้งสอบข้อกล่าวหามีกล้องซ่อนในห้องลองเสื้อ 

กัวลาลัมเปอร์ 12 ม.ค. – เอชแอนด์เอ็ม มาเลเซีย (H&M Malaysia) ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจมาเลเซียจากกรณีที่มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งร้องเรียนว่าเธอถูกกล้องที่ซ่อนอยู่ในห้องลองเสื้อผ้าของร้านในกรุงกัวลัมเปอร์แอบถ่ายและนำภาพเหล่านี้ไปขายในโลกออนไลน์ เอชแอนด์เอ็ม มาเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอชแอนด์เอ็ม (H&M) บริษัทผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสวีเดน ระบุในแถลงการณ์ว่า บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของลูกค้าทุกคน ขณะนี้ เอชแอนด์เอ็ม มาเลเซีย ได้ไปแจ้งความกับตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และตำรวจมาเลเซียกำลังเร่งสืบสวนเรื่องนี้อยู่ บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบห้องลองเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุละเมิดความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัวของลูกค้าอย่างเด็ดขาด หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซียรายงานว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งอ้างว่าเธอตกเป็นเหยื่อของกล้องที่ซ่อนอยู่ในห้องลองเสื้อผ้าที่ร้านของเอชแอนด์เอ็มในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนตุลาคมปี 2564 โดยที่เธอบังเอิญเห็นภาพของตัวเองและเพื่อนคนหนึ่งปรากฏอยู่ในคลิปวิดีโอที่ถูกนำไปโพสต์ขายในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาของผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายนี้กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในมาเลเซียเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า.-สำนักข่าวไทย

“H&M” จะปลดพนักงาน 1,500 คน เพื่อลดต้นทุน

เอชแอนด์เอ็ม (H&M) บริษัทผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสวีเดน จะปรับลดจำนวนพนักงาน 1,500 คน เพื่อลดต้นทุน ท่ามกลางความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลง เนื่องจากผู้ซื้อกำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

จีนว่าเอชแอนด์เอ็มควรตรวจสอบกรณีซินเจียงอย่างจริงจัง

ปักกิ่ง 29 มี.ค. – จีนระบุว่า เอชแอนด์เอ็ม (H&M) บริษัทผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสวีเดนควรตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีนอย่างจริงจังก่อน ในขณะที่เอชแอนด์เอ็มถูกชาวจีนคว่ำบาตรจากแสดงความเห็นเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับสภาพแรงงานในเขตดังกล่าว โฆษกรัฐบาลท้องถิ่นของเขตซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของจีนกล่าวว่า เอชแอนด์เอ็มไม่ควรโยงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องการเมือง และบริษัทจะไม่สามารถทำรายได้ในตลาดจีนได้อีกต่อไป เนื่องจากการออกแถลงการณ์ดังกล่าว เขายังกล่าวหาสหรัฐ อังกฤษ สหภาพยุโรป และแคนาดาว่า มีส่วนร่วมในการชักใยทางการเมือง เพื่อทำลายความมั่นคงของจีน หลังจากที่กลุ่มประเทศดังกล่าวร่วมกันประกาศคว่ำบาตรจีนจากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตซินเจียงอุยกูร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอชแอนด์เอ็มถูกชาวจีนโจมตีอย่างหนักตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เมื่อชาวจีนโนโลกโซเชียลมีเดียเผยแพร่แถลงการณ์ของเอชแอนด์เอ็มในปีที่แล้วที่ระบุว่า บริษัทจะไม่ใช้ฝ้ายจากเขตซินเจียงอุยกูร์อีกต่อไป การตัดสินใจที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความยากลำบากในการตรวจสอบต้นกำเนิดของฝ้าย หลังจากที่สื่อและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้รายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในเขตซินเจียงอุยกูร์.-สำนักข่าวไทย

“ไนกี้” ถูกชาวจีนโจมตีหลังแถลงเกี่ยวกับซินเจียงอุยกูร์

ชาวจีนในโลกโซเชียลมีเดียแสดงความไม่พอใจต่อแถลงการณ์ของไนกี้ อิงค์ บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของโลกที่ระบุว่า รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับรายงานข่าวการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน และไนกี้ไม่ได้ใช้ฝ้ายจากภูมิภาคดังกล่าวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

...