ยื่นจดเมนู “เสือร้องไห้” ไม่กระทบไทย
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย้ำชัดกรณี Noor Khan Enterprise ยื่นจดเครื่องหมายการค้าในมาเลเซีย ไม่กระทบสิทธิการใช้ชื่อเมนู “เสือร้องไห้” ของไทยแน่
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย้ำชัดกรณี Noor Khan Enterprise ยื่นจดเครื่องหมายการค้าในมาเลเซีย ไม่กระทบสิทธิการใช้ชื่อเมนู “เสือร้องไห้” ของไทยแน่
กัวลาลัมเปอร์ 14 ม.ค.- มารดานักแสดงสาวชาวมาเลเซียยกเลิกการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อภาษามาเลย์รายการอาหารที่ตรงกับชื่อ “เสือร้องไห้” แล้ว และขอโทษที่ทำให้เกิดความสับสน เว็บไซต์มาเลย์เมลรายงานว่า ดาติน นูร์ การ์ตินี นูร์ โมฮัมหมัด มารดาของนีโลฟา นักแสดงวัย 31 ปี แถลงข่าวออนไลน์วันนี้ว่า เธอตัดสินใจยกเลิกการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Harimau Menangis (ฮาริเมา เมอนางิส แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เสือร้องไห้) ทันทีที่สามารถทำได้ เหตุผลที่ยื่นขอเพราะต้องการปกป้องชื่อธุรกิจและตัวแทนไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบเท่านั้น เธอขออภัยและตระหนักดีว่าทำให้เกิดความสับสน หวังว่าการตัดสินใจของเธอจะทำให้เกิดความชัดเจนและยุติเรื่องราวทั้งหมด นางนูร์ การ์ตินี ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในมาเลเซียวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากมีการแชร์ภาพหน้าจอเว็บไซต์บรรษัททรัพย์สินทางปัญญาแห่งมาเลเซีย (MyIPO) ว่า บริษัทนูร์ข่านเอ็นเตอร์ไพรซ์ของเธอยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เว็บไซต์แสดงสถานะเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปีเดียวกันว่า อยู่ระหว่างการตรวจยืนยันอย่างเป็นทางการ เธอทำให้คนสับสนมากขึ้นไปอีก เพราะบันทึกเทปการทำรายการอาหารเสือร้องไห้ และพูดเป็นนัยว่าสูตรอาหารนี้จดสิทธิบัตรแล้ว.-สำนักข่าวไทย
กัวลาลัมเปอร์ 14 ม.ค.- โลกสื่อสังคมออนไลน์มาเลเซียเต็มไปด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรง หลังจากมีรายงานข่าวบริษัทดังแห่งหนึ่งยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายการอาหาร “เสือร้องไห้” เว็บไซต์มาเลย์เมลรายงานว่า เชื่อกันว่าบริษัทนูร์ข่านเอ็นเตอร์ไพรซ์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อภาษามาเลย์ harimau menangis (ฮาริเมา เมอนางิส) มีที่มาจากชื่อ “เสือร้องไห้” ที่เป็นรายการอาหารของไทย ผู้ใช้ทวิตเตอร์พากันรีทวีตภาพหน้าจอการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในเว็บไซต์ MyIPO ซึ่งเป็นเว็บท่าทางการของบรรษัททรัพย์สินทางปัญญาแห่งมาเลเซียลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 แสดงสถานะเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปีเดียวกันว่า อยู่ระหว่างการตรวจยืนยันอย่างเป็นทางการ ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากแสดงความไม่พอใจว่า การกระทำนี้จะกระทบต่อเจ้าของธุรกิจรายเล็กที่จำหน่ายอาหารรายการนี้ หลายคนร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญาและชักชวนคนอื่นร่วมร้องเรียนด้วย ขณะที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้คิดรายการอาหารนี้ขึ้นเองจึงไม่น่าจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอ้างพจนานุกรมของทางการว่า คำว่า harimau menangis (ฮาริเมา เมอนางิส) เป็นชื่อทั่วไป มักใช้อ้างถึงชิ้นเนื้อวัว มากกว่ารายการอาหาร มาเลย์เมลอธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วบรรษัททรัพย์สินทางปัญญาแห่งมาเลเซียใช้เวลา 12 เดือนในการพิจารณาการยื่นขอจดทะเบียนการค้า และใช้เวลา 7 เดือนในการพิจารณาแบบเร่งด่วน.-สำนักข่าวไทย