เผยธุรกิจที่ออกจากฮ่องกงไปแล้วไม่คิดกลับมาอีก

ฮ่องกง 2 ต.ค.- สภาหอการค้าฮ่องกงเผยว่า ธุรกิจที่ย้ายออกจากฮ่องกงไปแล้วไม่คิดจะกลับมาดำเนินธุรกิจในฮ่องกงอีก แม้ว่าทางการจะเปิดพรมแดนอย่างเต็มที่ และเศรษฐกิจฮ่องกงก็ต้องรอจนถึงไตรมาสแรกของปี 2566 จึงจะเริ่มฟื้นตัว นายจอร์จ เหลียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสภาหอการค้าฮ่องกงเรียกร้องให้ทางการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าฮ่องกงเพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั้งหมด โดยเตือนว่า ธุรกิจที่ย้ายออกไปแล้วจะไม่กลับมาในระยะสั้นเพราะการเช่าสำนักงานและรับสมัครคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทางการฮ่องกงจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการดึงดูดธุรกิจเหล่านี้กลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด และเอื้อให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ นายเหลียงอ้างผลการสำรวจกับธุรกิจที่เป็นสมาชิก 4,000 แห่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ว่า บริษัทใหญ่ร้อยละ 30 กำลังคิดจะย้ายออกจากฮ่องกง หรือย้ายออกไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และอีกร้อยละ 10 ย้ายไปอย่างถาวร เขาเรียกร้องให้ทางการยกเลิกมาตรการกักตัวกับผู้เดินทางเข้าฮ่องกงทั้งหมด หลังจากที่ทางการเปลี่ยนมาใช้มาตรการกักตัวที่บ้าน 3 วัน จากเดิมที่ให้กักตัวที่โรงแรม 3 วัน และกักตัวที่บ้าน 4 วัน โดยระบุว่าแม้ทางการจะยกเลิกมาตรการทั้งหมดแล้ว เศรษฐกิจฮ่องกงต้องรอจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าเป็นอย่างเร็วที่สุดจึงจะเริ่มฟื้นตัว ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันไตรมาส 4 ของปีนี้.-สำนักข่าวไทย

รัสเซียคาดเศรษฐกิจจะกลับมาโตเร็วกว่าที่คาด

รัสเซียคาดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวต่อไตรมาสได้อย่างเร็วที่สุดภายในสิ้นปีนี้ และจะหดตัวต่อปีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.8%

ปักกิ่ง 18 เม.ย.- เศรษฐกิจจีนไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากไตรมาสแรกของปีก่อน แต่ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เนื่องจากเมืองอุตสาหกรรมหลายแห่งล็อกดาวน์เพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ไตรมาสแรกของปี 2565 เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกขยายตัวร้อยละ 1.3 จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาส 3 ของปีก่อน และร้อยละ 4 จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจจีนไตรมาสนี้น่าจะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นเพราะมาตรการล็อกดาวน์จะทำให้กิจกรรมทางธุรกิจในเดือนเมษายนและพฤษภาคมสะดุด และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมที่สะดุดเพราะมาตรการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางธุรกิจของจีนที่มีประชากรมากกว่า 25 ล้านคน และอีกหลายเมือง ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมระดับโลกต้องลดหรือระงับการผลิต พรรคคอมมิวนิสต์จีนรับปากใช้มาตรการทางภาษีและอื่น ๆ ช่วยเหลือภาคธุรกิจ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนย้ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ขณะที่นักสังเกตการณ์คาดว่า รัฐบาลจีนจะดำเนินการอย่างระมัดระวังและใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเจาะจง มากกว่าใช้จ่ายอย่างเหวี่ยงแห เพราะกังวลว่าจะไปเพิ่มราคาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง และหนี้ภาคธุรกิจที่สูงจนเป็นอันตรายอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย

สายการบินใหญ่สุดในจีนขาดทุนลดลง

ปักกิ่ง 29 ส.ค.- ไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ สายการบินใหญ่ที่สุดในจีนแจ้งผลประกอบการไตรมาสสองของปีนี้ว่า ขาดทุนลดลง เนื่องจากมีการเดินทางภายในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว ไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์แถลงว่า ไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายนขาดทุน 2,900 ล้านหยวน (ราว 13,139 ล้านบาท) ลดลงจากไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคมที่ขาดทุน 5,300 ล้านหยวน (ราว 24,013 ล้านบาท) โรคโควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลกระทบระยะยาวและลึกซึ้งไปทั่วโลก คาดว่าตลาดการบินโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูงอยู่ แต่ตลาดการบินในจีนจะฟื้นตัวเป็นแห่งแรก แนวโน้มการฟื้นตัวและพัฒนาดูดี เพราะคนมีความต้องการเดินทางสูงมากทันทีที่สามารถควบคุมไวรัสได้ ด้านไชนาอีสเทิร์นแอร์ไลน์ สายการบินใหญ่อันดับสองของจีนแจ้งว่า ไตรมาสสองขาดทุน 4,600 ล้านหยวน (ราว 20,841 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขาดทุน 3,600 ล้านหยวน (ราว 16,311 ล้านบาท) เพราะกลยุทธ์ลดราคาทำให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้นแต่ได้กำไรลดลง ส่วนแอร์ไชนา ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติไตรมาสสองขาดทุน 4,600 ล้านหยวน (ราว 20,841 ล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกที่ขาดทุน 4,800 ล้านหยวน […]

สวิตเซอร์แลนด์เศรษฐกิจถดถอย

ซูริค 27 ส.ค.- เศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสองร่วงหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ กระทรวงเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์แถลงวันนี้ว่า ไตรมาสสองปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) หดตัวถึงร้อยละ 8.2 มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2523 ขณะที่ไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 2.5 ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคเพราะหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน เศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์เป็นไปตามเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างหนักเพราะโรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก ยอดผู้ป่วยสะสมทั่วโลกเกิน 24 ล้านคนแล้ว และมีผู้เสียชีวิตกว่า 820,000 คน อย่างไรก็ดี จีดีพีของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 40,000 คน เสียชีวิตกว่า 1,700 คน ถือว่าลดลงอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เนื่องจากภาคบริการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการจำกัดการระบาดครองสัดส่วนจีดีพีของสวิตเซอร์แลนด์น้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไตรมาสสองปีนี้ภาคการผลิตของสวิตเซอร์แลนด์ลดลงร้อยละ 9 ได้อุตสาหกรรมการผลิตยาที่ขยายตัวช่วยยับยั้งไม่ให้ลดลงหนัก การส่งออกสินค้ายกเว้นสินค้ามีค่าลดลงร้อยละ 9.4 ธุรกิจที่พักและอาหารลดลงกว่าร้อยละ 54 การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 8.6 ความต้องการบริโภคในประเทศลดลงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้การนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 14.3 และการนำเข้าภาคบริการลดลงกว่าร้อยละ 22.-สำนักข่าวไทย

เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มถดถอยครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ

รัฐบาลออสเตรเลียคาดเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ หลังจากไตรมาสแรกปีนี้หดตัว และไตรมาสสองน่าจะหดตัวหนักกว่าเดิมเพราะโควิด-19

ส่งออก-นำเข้าจีนเดือนกันยายนลดลง

เดือนก.ย.ปีนี้ยอดส่งออกจีนลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ขณะที่ยอดนำเข้าลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจีนยังคงต้องการการกระตุ้นเพิ่มเติม

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสสามของปีนี้โตร้อยละ 7.31

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามแถลงวันนี้ว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสสามของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 7.31 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

อินโดนีเซียลดดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจโตน้อยสุดในรอบสองปี

ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่คาดคิด หลังจากเศรษฐกิจไตรมาสสองของปีนี้ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบสองปี

เศรษฐกิจฮ่องกงยังคงซบเซาสองไตรมาสติดต่อกัน

ทางการฮ่องกงเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจวันนี้ว่า ไตรมาสสองของปีนี้เศรษฐกิจยังคงซบเซาเช่นเดียวกับไตรมาสก่อน เป็นเพราะยอดส่งออกและความต้องการบริโภคภายในซบเซา

1 2 3
...