ผู้นำฮ่องกงไม่ยอมรับเรื่องเสรีภาพสื่อเสี่ยงสูญพันธุ์

ฮ่องกง 4 ม.ค.- นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารฮ่องกงเผยว่า ไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นที่ว่าเสรีภาพสื่อมวลชนในฮ่องกงเสี่ยงสูญพันธุ์ หลังจากตำรวจบุกจับกุมคนทำงานสื่อ 7 คนเมื่อไม่กี่วันก่อน นางหล่ำกล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ในวันนี้ว่า เช้านี้ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งปิดตัวว่า เสรีภาพสื่อมวลชนในฮ่องกงเสี่ยงสูญพันธุ์ เธอไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นประเภทนี้ได้ และไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าหลักนิติธรรม นางหล่ำกล่าวเรื่องนี้หลังจากเว็บไซต์ข่าวซิติเซนนิวส์ (Citizen News) ประกาศว่า จะหยุดขึ้นข่าวใหม่ในหน้าเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม และจะปิดตัวหลังจากนั้น เป็นสื่อด้านข่าวรายที่ 3 ในฮ่องกงที่จะปิดตัว ตามหลังหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลีที่ปิดตัวไปในเดือนมิถุนายนเพราะถูกทางการอายัดทรัพย์สิน และเว็บไซต์ข่าวสแตนนิวส์ที่ประกาศปิดตัวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม วันเดียวกับที่ทีมงานทั้งอดีตและปัจจุบัน 7 คนถูกตำรวจบุกจับกุมข้อหาคบคิดกันเผยแพร่สิ่งพิมพ์ปลุกระดม ฮ่องกงกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในปี 2540 โดยรับปากว่าจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนดังที่เป็นมา แต่กลุ่มสิทธิและรัฐบาลตะวันตกแย้งว่า เสรีภาพสื่อมวลชนในฮ่องกงย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากที่รัฐบาลจีนใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกับฮ่องกงในปี 2563.-สำนักข่าวไทย

เผยจีนเป็นประเทศที่จับกุมนักข่าวมากที่สุดในโลก

ปักกิ่ง 8 ธ.ค. – รายงานล่าสุดขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่จับกุมนักข่าวเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก โดยมีนักข่าวที่ยังคงถูกควบคุมตัวในขณะนี้อย่างน้อย 127 คน องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่สนับสนุนและปกป้องเสรีภาพสื่อ ระบุว่า จีนกำลังเดินหน้าปราบปรามต่อต้านสื่อมวลชนทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยอ้างเหตุผลในการจับกุมผู้สื่อข่าวหรือนักข่าวพลเมืองด้วยข้อกล่าวหาสร้างความวุ่นวาย ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า การควบคุมสื่อมวลชนของจีนเริ่มรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และมีผู้สื่อข่าวและนักวิจารณ์ในสื่อออนไลน์อย่างน้อย 10 คนที่ถูกควบคุมตัว เนื่องจากรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนยังระบุว่า เจิ้ง จาน นักข่าวพลเมืองและอดีตทนายความ วัย 38 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกทางการจีนควบคุมตัว หลังจากที่เธอเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนเพื่อถ่ายทำสารคดีและเขียนบทความเกี่ยวกับสภาพท้องถนนและโรงพยาบาลในเมืองดังกล่าว แม้ถูกเจ้าหน้าที่ของจีนข่มขู่ก็ตาม และทำให้รายงานข่าวของเธอได้รับการเผยแพร่เป็นวงกว้างในสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ดี เธอกลับถูกทางการจีนตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อเหตุทะเลาะวิวาทและสร้างความวุ่นวาย ซึ่งเป็นข้อหาที่จีนมักใช้กับนักเคลื่อนไหวและผู้เปิดโปงความลับที่เป็นภัยต่อความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมข้อมูลภายในประเทศ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า จีนได้ใช้วิธีการอื่น ๆ เช่น การดำเนินการทางการทูตในต่างประเทศเพื่อโจมตีนักข่าว การขัดขวางสื่อมวลชน การปิดกั้นประเด็นข่าว การบังคับให้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นศึกษาอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อไว้ในโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการไล่ออกหรือข่มขู่นักข่าว ทั้งนี้ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนได้จัดให้จีนอยู่ในอันดับ 177 จาก 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปีนี้ โดยที่เกาหลีเหนืออยู่ในอันดับ 179.-สำนักข่าวไทย

ฟิลิปปินส์ชี้นักข่าวคว้าโนเบลสันติภาพแสดงว่าสื่อมีเสรีภาพ

มะนิลา 11 ต.ค.- โฆษกประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ระบุว่า การที่นักข่าวหญิงผู้มักวิจารณ์รัฐบาลได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เสรีภาพสื่อมวลชนมีอยู่จริงในฟิลิปปินส์ โฆษกประธานาธิบดีดูเตอร์เตกล่าวในการแถลงข่าวตามปกติวันนี้ว่า ถือเป็นชัยชนะของสตรีฟิลิปปินส์ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เสรีภาพสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์มีอยู่จริง ยืนยันได้จากการที่นางมาเรีย เรสซา ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวแร็ปเปลอร์ (Rappler) ได้รับการประกาศชื่อเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมให้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2564 ร่วมกับนายดมิทรี มูราตอฟ นักข่าวรัสเซียผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระชื่อ โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) เพราะทั้งคู่พยายามปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยังได้ปฏิเสธเสียงครหาเรื่องรัฐบาลสร้างบรรยากาศความไม่แน่ใจและหวาดกลัวให้แก่องค์กรสื่อว่า ผู้ที่อ้างเช่นนั้นไม่ควรเป็นผู้สื่อข่าว และการที่นางเรสซาได้รับรางวัลโนเบลก็ไม่ใช่การตบหน้ารัฐบาล เพราะไม่เคยมีใครในฟิลิปปินส์ถูกเซ็นเซอร์ นางเรสซาเองต้องพิสูจน์ตัวเองในศาล รัฐบาลจะให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชะตาของเธอ นางเรสซาวัย 58 ปี ซึ่งมีสัญชาติอเมริกันด้วย ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีเมื่อวันเสาร์ว่า ยังต้องสู้คดีในศาลอีก 7 คดี หลังจากศาลยกฟ้องไปแล้ว 2 คดีเมื่อต้นปี เธอหวังว่า รางวัลโนเบลสันติภาพจะช่วยปกป้องเธอและผู้สื่อข่าวคนอื่น ๆ ในฟิลิปปินส์ไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ทางออนไลน์ นางเรสซาและเว็บไซต์แรปเปลอร์ถูกตั้งข้อหาอาญาและสอบสวนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตรับตำแหน่งในปี 2559 เพราะมักวิจารณ์เรื่องการทำสงครามปราบปรามยาเสพติด ผู้นำฟิลิปปินส์ตราหน้าแรปเปลอร์ว่า เป็นองค์กรข่าวเท็จ.-สำนักข่าวไทย

สมาชิกสภาฮ่องกงวอล์กเอาต์ขณะผู้บริหารเตรียมแถลง

สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงกลุ่มหนึ่งพากันเดินออกจากที่ประชุมสภาขณะที่นางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเตรียมแถลงนโยบายประจำปี เป็นการประท้วง

...