“บลิงเคน” เผยสถานการณ์ในเมียนมาน่าหนักใจอย่างยิ่ง

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าววันนี้ว่า รัฐบาลทหารในเมียนมาเพิ่มการกวาดล้างกดดันผู้ที่มีความเห็นต่าง และใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเป็นสองเท่า และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ จะเน้นเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อเขาได้พบกับผู้นำอาเซียน

เชิญตัวแทนไม่ใช่ฝ่ายการเมืองของเมียนมาประชุมอาเซียน

พนมเปญ 3 ก.พ.- กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาเผยว่า ได้เชิญตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนในปลายเดือนนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาเผยกับสื่อว่า สมาชิกอาเซียนไม่สามารถบรรลุฉันทามติเรื่องเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาเข้าร่วมการประชุม ในขณะที่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนสันติภาพ กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันจึงขอให้เมียนมาส่งตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองมาร่วมการประชุมวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ แทนการปล่อยให้ที่นั่งว่าง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ขึ้นกับเมียนมาที่จะตัดสินใจว่าควรส่งใครมาร่วมประชุม ส่วนเมื่อวานนี้กัมพูชาแถลงว่า มีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงรายงานข่าวเรื่องยังคงมีการใช้ความรุนแรงและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ลง สมาชิกอาเซียนขอย้ำถึงความเร่งด่วนของการยุติการใช้ความรุนแรงโดยทันที และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด ปีที่แล้วอาเซียนได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำก่อนด้วยการไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสำคัญ เนื่องจากเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงกับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนปีก่อน หลังจากเมียนมาตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากการที่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีก่อน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ได้เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางไปพบ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำเมียนมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม ทำให้สมาชิกอาเซียนบางประเทศเกรงว่าจะถูกมองว่าเป็นการรับรองรัฐบาลทหารเมียนมา.-สำนักข่าวไทย

กัมพูชาเล็งปรับตารางประชุม รมว.ต่างประเทศอาเซียน

พนมเปญ 30 ม.ค.- กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แจ้งเมื่อวันเสาร์ว่า กัมพูชากำลังพิจารณาปรับตารางการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กลางเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงว่า สมาชิกอาเซียนจะหารือเรื่องการเดินทางไปเมียนมาของนายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาและทูตพิเศษของอาเซียนเรื่องเมียนมา ซึ่งมีภารกิจผลักดันให้ทุกฝ่ายในเมียนมาเปิดการเจรจากัน เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่น อ้างแหล่งข่าวว่า กัมพูชาในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนประจำปีนี้กำลังคิดเรื่องไม่ให้รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากกองทัพเมียนมายังคงไม่ยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง ตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองของเมียนมาเท่านั้นที่จะได้รับเชิญ ตราบใดที่เมียนมายังไม่แสดงให้เห็นว่า มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่เมียนมาและอาเซียนตกลงกันในเดือนเมษายนปีก่อน เช่น การยุติความรุนแรงโดยทันที การให้ทูตพิเศษอาเซียนพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมียนมา เดิมกัมพูชากำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ 18-19 มกราคม ที่เมืองเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากสมาชิกบางประเทศมีข้อติดขัด แหล่งข่าวเผยว่า กัมพูชากำลังพิจารณาใช้รูปแบบผสมระหว่างการประชุมแบบออนไลน์และการประชุมแบบพบหน้ากัน.-สำนักข่าวไทย

กัมพูชาจะจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเดือนหน้า

กัมพูขา ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนในปีนี้ กล่าววันนี้ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนจะประชุมกันที่กัมพูชาในเดือนหน้าเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เมียนมา

“ฮุน เซน” เชิญ “มิน อ่องหล่าย” ประชุมสุดยอดอาเซียน

พนมเปญ 25 ม.ค.- นายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาเผยว่า ได้เชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน หากเมียนมามีความคืบหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนสันติภาพที่ตกลงกันไว้เมื่อปีก่อน นายกรัฐมนตรีฮุน เซนในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันเผยว่า จะคุยผ่านระบบวิดีโอทางไกลกับผู้นำเมียนมาในวันพุธ เฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนได้ลงแถลงการณ์สรุปการสนทนาระหว่างเขากับนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ยาคอบของมาเลเซียว่า นายกรัฐมนตรีแจ้งว่าได้เชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่ายมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน หากมีความคืบหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ข้อที่เมียนมาตกลงกับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนปีก่อนเรื่องยุติความเป็นปรปักษ์และเปิดทางให้มีการเจรจา แต่หากไม่มีความคืบหน้า ผู้นำเมียนมาต้องส่งผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองมาร่วมประชุมอาเซียนแทน ผู้นำกัมพูชาไปเยือนเมียนมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม ถือเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกนับตั้งแต่กองทัพเมียนมารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีก่อน ทำให้บางประเทศกังวลว่าอาจถูกตีความว่าอาเซียนให้การรับรองผู้นำทหารเมียนมา กัมพูชาแสดงออกว่าไม่ต้องการโดดเดี่ยวเมียนมา แต่ผู้นำสมาชิกอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์กดดัน ไม่ให้ยอมอ่อนข้อให้แก่เมียนมา.-สำนักข่าวไทย

ทูตยูเอ็นขออาเซียนหนุนทุกฝ่ายในเมียนมาร่วมแก้วิกฤต

วอชิงตัน 13 ม.ค.- ดร.โนลีน เฮเซอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรื่องเมียนมาขอให้สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนสนับสนุนความพยายามของนานาชาติที่ต้องการให้ทุกฝ่ายในเมียนมาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตประเทศ ยูเอ็นแถลงวันนี้ว่า ดร.เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นด้านเมียนมา ได้หารือเสมือนจริงกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาที่เป็นประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน โดยได้ขอให้ร่วมมือเรื่องจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และหาทางทำให้แผนสันติภาพฉันทามติ 5 ข้อที่ชะงักงันมีความคืบหน้า ดร.เฮเซอร์สนับสนุนให้มีมาตรการสร้างความไว้วางใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา นอกเหนือไปจากองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และขอให้นายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาร่วมกับเธอและประชาคมโลกสร้างยุทธศาสตร์ที่มุ่งไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจรจาแบบครอบคลุมทุกฝ่าย เพราะวิธีการแก้ปัญหาต้องมาจากเข้าไปข้องเกี่ยวโดยตรง และรับฟังทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบอย่างเอาใจใส่ ทูตของบรูไนเคยกำหนดเงื่อนไขการเยือนเมียนมาในช่วงที่บรูไนดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปีก่อนว่า ต้องการพบกับทุกฝ่ายในเมียนมา แต่นายปรัก สุคน แย้งว่า เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ล่าสุดนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาเพิ่งนำคณะไปเยือนเมียนมาเป็นเวลา 2 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน และได้พบหารือกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายของเมียนมา แต่ไม่ได้พบกับนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพลเรือนที่ถูกกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีก่อน และคุมขังอยู่จนถึงขณะนี้.-สำนักข่าวไทย

กัมพูชาเลื่อนประชุม รมว. ต่างประเทศอาเซียนสัปดาห์หน้า

พนมเปญ 13 ม.ค.- กัมพูชาในฐานะประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนวาระปัจจุบันแจ้งว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กำหนดมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม จะถูกเลื่อนออกไป โดยยังไม่ได้กำหนดวันประชุมใหม่ กัมพูชาแจ้งว่า การประชุมที่กำหนดมีขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศหลายประเทศมีปัญหาในการเดินทางมาประชุม เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่า แม้เป็นการประชุมตามปกติ แต่ถือว่ามีความสำคัญเพราะเป็นโอกาสที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะได้ประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรก นับตั้งแต่กัมพูชารับหน้าที่ประธานในปีนี้ แหล่งข่าวเผยว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียต้องการประชุมแบบเสมือนจริงเพราะติดปัญหาในประเทศ ขณะที่บรูไนเตรียมจัดพระราชพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงฟัดซิลลาห์ ลูบาบูล โบเกียห์ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ระหว่างวันที่ 17-24 มกราคม นายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาเพิ่งไปเยือนเมียนมา 2 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ไปเยือนนับจากกองทัพเมียนมารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีก่อน กัมพูชาสนับสนุนให้เมียนมาได้กลับเข้าสู่การทูตของอาเซียน หลังจากอาเซียนไม่ให้พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน เกียวโดรายงานว่า อาเซียนกำลังหารือกันว่าจะให้รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาที่แต่งตั้งโดยกองทัพได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหรือไม่.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำทหารเมียนมาจะให้ผู้แทนอาเซียนพบทุกฝ่าย

เนปิดอว์ 8 ม.ค.- พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมารับปากว่า จะให้ผู้แทนพิเศษของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนพบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบทางการเมืองในขณะนี้ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายกล่าวระหว่างแถลงที่กรุงเนปิดอว์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาที่ไปเยือนเมื่อวันศุกร์ว่า จะให้การรับรองว่าทูตพิเศษอาเซียนจะได้พบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุไม่สงบทางการเมืองในขณะนี้ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ และจะสนับสนุนให้ทูตพิเศษอาเซียนได้ทำตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติตามแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ข้อที่เมียนมาตกลงกับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน หนึ่งในนั้นมีการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที ด้านนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันแสดงความสนับสนุนผู้นำเมียนมาว่า สันติภาพที่สมบูรณ์และความปรองดองแห่งชาติไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าร่วมและตกลงด้วย โดยอ้างถึงบทเรียนที่กัมพูชาเรียนรู้จากกระบวนการสันติภาพที่ใช้เวลาตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษหลังปี 1980 จนถึงต้นคริสต์ทศวรรรษหลังปี 1990 นายกรัฐมนตรีฮุน เซนเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เยือนเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ฝ่ายต่อต้านในเมียนมาพากันประท้วงการเยือนครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย

“ฮุน เซน” จะตั้ง รมว.ต่างประเทศกัมพูชาเป็นทูตพิเศษเมียนมา

พนมเปญ 15 ธ.ค. – นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา เผยวันนี้ว่า จะแต่งตั้งนายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาให้ดำรงตำแหน่งทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาคนใหม่ของอาเซียน หลังจากที่กัมพูชาได้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนประจำปี 2565 ต่อจากบรูไน นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดโรงแรมหรูแห่งหนึ่งที่กรุงพนมเปญของกัมพูชาว่า เขาขอยืนยันว่าจะแต่งตั้งนายปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาให้ดำรงตำแหน่งทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาคนใหม่ของอาเซียน ทั้งยังระบุว่า เขาจะเดินทางเยือนเมียนมาในวันที่ 7-8 มกราคมปีหน้า และกัมพูชาจะพยายามอย่างสุดความสามารถในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทั้งนี้ นายสุคนจะดำรงตำแหน่งทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของอาเซียนต่อจากนายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบรูไน โดยที่ตำแหน่งดังกล่าวมีขึ้นเพื่อติดตามการปฏิบัติตามหลักฉันทามติ 5 ข้อที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมถึงหน้าที่อำนวยความสะดวกในขั้นตอนเจรจา และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา.-สำนักข่าวไทย

นักข่าวติดตามคณะ “บลิงเคน” เยือนอาเซียน ติดโควิด

กัวลาลัมเปอร์ 15 ธ.ค.- กระทรวงต่างประเทศสหรัฐแจ้งว่า ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่ติดตามคณะของนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเยือนอังกฤษ และ 3 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผลตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นบวก โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งในคณะผู้สื่อข่าว 12 คน มีผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกเมื่อวันพุธที่มาเลเซีย ส่วนผู้สื่อข่าวคนอื่น ๆ รวมทั้งนายบลิงเคนและคณะเจ้าหน้าที่ไม่มีใครมีผลตรวจเป็นบวก นายบลิงเคนเดินทางจากกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย มาถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเมื่อเย็นวันอังคาร และเดินทางต่อมาที่ไทยเป็นจุดหมายสุดท้ายในวันนี้ โดยได้ไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี 7 (G7) ที่เมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษเป็นแห่งแรกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐตรวจหาเชื้อด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ทุกวันกับทุกคนที่เดินทางด้วยเครื่องบินลำเดียวกับนายบลิงเคน ส่วนผู้สื่อข่าวที่มีผลตรวจเป็นบวกที่มาเลเซีย เพิ่งมีผลตรวจเป็นลบที่อังกฤษและจาการ์ตา ขณะนี้ถูกแยกกักโรคแล้ว.-สำนักข่าวไทย

“บลิงเคน” เผยสหรัฐจะใช้มาตรการเพิ่มกดดันเมียนมา

กัวลาลัมเปอร์ 15 ธ.ค. – นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ เผยวันนี้ว่า สหรัฐกำลังพิจารณาใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมเชิญผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ในเดือนมกราคมปีหน้า นายบลิงเคนกล่าวในระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซียว่า สหรัฐตั้งตารออย่างยิ่งต่อการจัดประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษร่วมกับอาเซียนในวันที่ 19 มกราคมปีหน้า สหรัฐจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนถึงการประชุมดังกล่าวเพื่อพิจารณาใช้ขั้นตอนและมาตรการเพิ่มเติมในการกดดันให้เมียนมาหวนคืนสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอีกครั้ง และกำลังทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับการกระทำของรัฐบาลทหารเมียนมาว่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ นายบลิงเคนยังระบุว่า นอกจากประเด็นสถานการณ์วิกฤตในเมียนมาแล้ว คาดว่าการประชุมสุดยอดดังกล่าวจะมีการหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุน และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้ นายบลิงเคน ซึ่งเคยระบุว่า 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กำลังปฏิบัติภารกิจเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เดินทางเยือนมาเลเซียเป็นประเทศที่สองในวันนี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนอินโดนีเซียเมื่อวันอังคาร โดยเขาระบุในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียว่า สหรัฐได้ดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในสนธิสัญญาไมตรีกับทวีปเอเชียด้วยข้อเสนอเพื่อส่งเสริมการทำงานด้านข่าวกรองและการป้องกันร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีน.-สำนักข่าวไทย

รมว.ต่างประเทศสหรัฐถึงอินโดฯเพื่อกระชับสัมพันธ์อาเซียน

จาการ์ตา 13 ธ.ค.- นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเดินทางถึงอินโดนีเซียแล้วในวันนี้ เริ่มต้นการตระเวนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ ที่กลายเป็นสนามรบทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน นายบลิงเคนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งในดือนมกราคม เขาจะเยือน 3 ประเทศประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย นักการทูตสหรัฐเผยก่อนหน้านี้ว่า บลิงเคนจะผลักดันเป้าหมายของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ต้องการยกระดับการติดต่อกับ 10 ชาติในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และจะหารือวิสัยทัศน์ของไบเดนเรื่องแนวทางการตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้รัฐบาลไบเดนยังไม่ได้แจกแจงวิสัยทัศน์ดังกล่าวอย่างชัดเจน รอยเตอร์มองว่า รัฐบาลไบเดนเห็นว่า การกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมีความสำคัญต่อการต้านทานการขยายอิทธิพลของจีน หลังจากรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทีพีพี (TPP) ในปี 2560 ทำให้สหรัฐถูกจำกัดความสามารถในการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในขณะที่จีนหาทางเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคนี้.-สำนักข่าวไทย

1 14 15 16 17 18 51
...