ผู้ประท้วงบังกลาเทศบีบคณะผู้บริหารแบงก์ชาติลาออก

ธากา 7 ส.ค.- แหล่งข่าวในธนาคารกลางของบังกลาเทศเผยว่า รองผู้ว่าการธนาคารกลาง 4 คน ถูกบีบบังคับให้ลาออกในวันนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง 300-400 คนประท้วงสิ่งที่พวกเขาระบุว่า เป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง แหล่งข่าวเผยว่า ผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ผู้ว่าธนาคารกลางลาออกด้วย แต่ผู้ว่าฯ ไม่ได้อยู่ในธนาคารกลางในช่วงที่ผู้ประท้วงมาชุมนุมที่สำนักงานใหญ่ในกรุงธากา โดยในระหว่างนี้รองผู้ว่าการคนหนึ่งจะทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งรองผู้ว่าการคนใหม่ทั้ง 4 คน นอกจากนี้หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองทางการเงินและที่ปรึกษานโยบายของธนาคารกลางได้ลาออกด้วยเช่นกัน โดยมีบุคลากรของกองทัพบกรับรองความปลอดภัยและนำพวกเขาออกจากธนาคารกลาง การประท้วงที่ธนาคารกลางบังกลาเทศมีขึ้น 2 วันหลังจากนางเชค ฮาซีนา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหนีออกนอกประเทศเมื่อวันจันทร์ ในช่วงที่มีการประท้วงนองเลือดมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตรวมกันเกือบ 300 คน.-814.-สำนักข่าวไทย

บังกลาเทศคาดได้รายชื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในวันนี้

บรรดาแกนนำผู้ประท้วงในบังกลาเทสกล่าวคาดหมายว่า สมาชิกของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเฉพาะกาล ที่นำโดยนายมูฮัมหมัด ยูนูส เจ้าของรางวัลโนเบล จะสรุปได้ภายในวันนี้

เผยข้อความที่ทำให้นายกฯ บังกลาเทศตัดสินใจหนี

ธากา 7 ส.ค.- แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ทหารเผยว่า ในคืนก่อนที่นายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ของบังกลาเทศตัดสินใจหนีอออกนอกประเทศในวันรุ่งขึ้น ผู้บัญชาการทหารบกได้แจ้งเธอด้วยตัวเองว่า ทหารจะไม่ล็อกดาวน์ประเทศตามที่ร้องขอ แหล่งข่าวเผยว่า พล.อ.วาการ์ อุจ จามาน ผู้บัญชาการทหารบกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนได้เรียกประชุมออนไลน์กับบรรดานายทหารระดับสูงแล้วตัดสินใจว่า กองทัพจะไม่เปิดฉากยิงใส่ประชาชนเพื่อบังคับใช้มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว จากนั้นได้เข้าพบนางฮาซีนาที่สำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข้อความกับเธอว่า กองทัพไม่สามารถบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศตามที่เธอต้องการได้ เป็นข้อความที่ชัดเจนว่า ทหารไม่หนุนหลังเธออีกต่อไป รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า ข้อความดังกล่าวช่วยให้ความกระจ่างว่า เหตุใดนางฮาซีนา วัย 76 ปี ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีกระแสต่อต้านน้อยมาก จึงเผชิญกับความโกลาหลที่ยุติลงอย่างฉับพลันในวันที่ 5 สิงหาคม เมื่อเธอหนีออกนอกประเทศไปยังอินเดีย แหล่งข่าวเชื่อว่า ความรุนแรงของการประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 241 คน น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้กองทัพตัดสินใจถอนการสนับสนุน แม้ผู้บัญชาการทหารบกไม่ได้ประกาศเหตุผลอย่างเป็นทางการก็ตาม นางฮาซีนาปกครองบังกลาเทศรวม 20 ปี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 ในเดือนมกราคมที่ฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง เพราะมีการจับกุมแกนนำฝ่ายค้านและแรงงาน การปกครองแบบเข้มงวดของเธอถูกท้าทายเมื่อกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำการประท้วงต่อต้านการกำหนดโควต้างานราชการในเดือนกรกฎาคม แต่หลังจากศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกโควต้าดังกล่าว การประท้วงได้เปลี่ยนเป็นการเรียกร้องให้นางฮาซีนาลาออกแทน.-814.-สำนักข่าวไทย  

ผู้ประท้วงบังกลาเทศต้องการให้เจ้าของโนเบลร่วมรัฐบาลชั่วคราว

ธากา 6 ส.ค.- กลุ่มผู้ประสานงานการประท้วงของนักศึกษาบังกลาเทศเรียกร้องให้แต่งตั้งนายมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาของรัฐบาลชั่วคราวที่จะตั้งขึ้น หลังจากนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ลี้ภัยออกนอกประเทศ กลุ่มผู้ประสานงานโพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊กในวันนี้ว่า ทางกลุ่มจะไม่ยอมรับรัฐบาลใดก็ตามที่ไม่มีนายยูนุส และจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุนหรือมีกองทัพเป็นแกนนำ พวกเขาได้หารือกับนายยูนุสแล้ว และนายยูนุสได้ยอมรับหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ เพื่อปกป้องประชาชนชาวบังกลาเทศ นายยูนุสวัย 84 ปี และธนาคารกรามีนแบงก์ของเขา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2549 จากการอุทิศตนเพื่อช่วยให้ชาวบังกลาเทศหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ผ่านการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำกว่า 3,545 บาท) แต่ขณะนี้เขากำลังถูกศาลไต่สวนในคดียักยอกทรัพย์ ซึ่งเขาปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด นายยูนุสได้ให้สัมภาษณ์สื่ออินเดียว่า วันที่ 5 สิงหาคมถือเป็นวันปลดปล่อยครั้งที่ 2 ของบังกลาเทศ หลังจากบังกลาเทศทำสงครามเรียกร้องเอกราชจากปากีสถานในปี 2514 ขณะเดียวกันกองทัพบกบังกลาเทศแถลงว่า ผู้บัญชาการกองทัพบกจะพบกับแกนนำนักศึกษาในวันนี้ หนึ่งวันหลังจากที่เขาเป็นผู้แถลงทางโทรทัศน์ว่า นางฮาซีนาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะมีตั้งรัฐบาลชั่วคราว.-814.-สำนักข่าวไทย

ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อสถานการณ์ในบังกลาเทศ

นิวยอร์ก 6 ส.ค.- สหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในบังกลาเทศ ใช้ความอดทนอดกลั้น และให้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวตามแนวทางประชาธิปไตย รองโฆษกยูเอ็นกล่าวว่า นายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็นรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตผู้คนในเหตุประท้วงในบังกลาเทศที่เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ จึงเรียกร้องความสงบและการอดกลั้นจากทุกฝ่าย ขอให้กระบวนการส่งผ่านอำนาจ ดำเนินไปโดยสันติ สงบเรียบร้อยและเป็นประชาธิปไตย และขอให้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงปกป้องกลุ่มผู้ประะท้วงทั้งในกรุงธากาและเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะที่นายแมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐแถลงว่า สหรัฐสนับสนุนการตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบังกลาเทศ โดยขอให้ดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยและครอบคลุมทุกฝ่าย หลังนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ ลี้ภัยเหตุประท้วงรุนแรงไปอินเดีย ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีแถลงเน้นย้ำว่า บังกลาเทศต้องไม่ออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย ท่ามกลางเหตุความไม่สงบในประเทศ เช่นดียวกับนายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) เรียกร้องให้ยุติเหตุรุนแรงในบังกลาเทศ ขอให้ทุกฝ่ายรับประกันจะมีการส่งผ่านอำนาจสู่รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนางฮาซีนายังไม่แถลงใด ๆ แต่ได้เพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวพรมแดนติดกับบังกลาเทศ หลังจากผู้บัญชาการกองทัพบกบังกลาเทศแถลงเมื่อวานนี้เรื่องจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีตนเองทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี.-810(814).-สำนักข่าวไทย

จับตาการเมืองบังกลาเทศหลังนายกฯ “ฮาซินา” ลาออก

นายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ผู้นำหญิงของบังกลาเทศ ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศแล้ว หลังเกิดการประท้วงนองเลือดรุนแรงทั่วประเทศช่วงหลายวันที่ผ่านมา ปิดฉากการบริหารประเทศต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 20 ปี

เปิดประวัตินายกฯ บังกลาเทศที่มีข่าวลาออก

เปิดประวัตินางเชค ฮาซีนา ที่มีกระแสข่าวในวันนี้ว่ายอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ และเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ในช่วงที่ผู้ประท้วงจากทั่วประเทศเคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงธากา หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ในการปะทะกันเมื่อวันอาทิตย์

ลือนายกฯ บังกลาเทศ ยอมลาออกแล้ว

มีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ ตัดสินใจลาออกแล้ว หลังจากถูกกดดันจากการประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไม่หยุด

นสพ.อังกฤษประณามเหตุประท้วงต้านผู้อพยพ

ลอนดอน 5 ส.ค.- หนังสือพิมพ์หลายฉบับในอังกฤษรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านผู้อพยพที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ หลายฉบับพาดหัวข่าวประณามการประท้วงว่าเป็นเรื่องน่าละอาย หนังสือพิมพ์เดลี่มิเรอร์พาดหัวข่าวว่า “ตกอยู่ในวงล้อม” หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์พาดหัวข่าวว่า “ผู้ยุยงให้ก่อจลาจลจะถูกคิดบัญชี” หนังสือพิมพ์เดอะเมโทรพาดหัวข่าวว่า “น่าละอายใจ” หนังสือพิมพ์เดลี่เอ็กซ์เพรสพาดหัวข่าวว่า “กลุ่มผู้ก่อจลาจลบุกโรงแรมที่พักของผู้อพยพ” แม้แต่หนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างไฟแนนเชียลไทมส์ยังพาดหัวข่าวว่า “นายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์สาบส่งการกระทำอันธพาล” เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์ที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือนประณามว่า เป็นการกระทำอันธพาลของกลุ่มขวาจัด ผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษตามกฎหมายอย่างสูงสุด หลังจากการประท้วงหลายวันบานปลายไปถึงขั้นมีการบุกโรงแรมที่ผู้ขอลี้ภัยพักอยู่ ต้นตอการประท้วงมาจากการแพร่ข่าวเท็จว่า เหตุคนร้ายไล่แทงเด็กหญิงเสียชีวิต 3 คนในกิจกรรมซ้อมเต้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม คนร้ายเป็นชาวมุสลิมอพยพ ทั้งที่ตำรวจยืนยันแล้วว่า คนร้ายเป็นวัยรุ่นชาย 17 ปีที่เกิดในอังกฤษก็ตาม.-814.-สำนักข่าวไทย

ประท้วงเดือดบังกลาเทศ ตายวันเดียวเกือบ 100 คน

ธากา 5 ส.ค.- มีผู้เสียชีวิตแล้ว 91 คน บาดเจ็บหลายร้อยคนเมื่อวันอาทิตย์ จากเหตุปะทะที่เกิดขึ้นระหว่างที่ตำรวจบังกลาเทศยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ลาออกจากตำแหน่ง ชาวบังกลาเทศจำนวนมากออกมารวมตัวประท้วงทั่วประเทศเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮาซีนาลาออกจากตำแหน่ง มีผู้เสียชีวิตในวันอาทิตย์วันเดียว 91 คน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน จากการปะทะกันของผู้ประท้วง ตำรวจ และนักเคลื่อนไหวของพรรคสันนิบาตอวามีของนางฮาซีนา ทั้งในกรุงธากาและอีกหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงเหตุผู้ประท้วงบุกโจมตีสถานีตำรวจ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 13 นาย ยอดผู้เสียชีวิต 91 คนในวันเดียวถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การประท้วงของบังกลาเทศ แซงหน้ายอดผู้เสียชีวิต 67 คนในวันที่ 19 กรกฎาคมที่กลุ่มนักศึกษาออกมาชุมนุมตามท้องถนน เรียกร้องให้ยกเลิกการกำหนดโควต้างานราชการ รัฐบาลบังกลาเทศประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหะสถานทั่วประเทศอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่เวลา 18.00 น. วานนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ใช้มาตรการนี้นับตั้งแต่เกิดการประท้วงขึ้นในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังได้ประกาศวันหยุดราชการ 3 วันตั้งแต่วันนี้จนถึงวันพุธ เหตุไม่สงบในขณะนี้ทำให้รัฐบาลบังกลาเทศต้องตัดบริการอินเทอร์เน็ตป้องกันการใช้เป็นเครื่องมือเรียกคนมารวมตัวประท้วง ถือเป็นบททดสอบใหญ่ที่สุดในนายกรัฐมนตรีฮาซีนาวัย 76 ปี ที่ชนะเลือกตั้งในปีนี้ได้ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันนับจากปี 2552 และเป็นสมัยที่ 4 เพราะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2539-2544 […]

สังเวย 7 ศพประท้วงขับไล่นายกฯ บังกลาเทศ

ธากา 4 ส.ค.- มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 คน และบาดเจ็บหลายสิบคนในวันนี้ จากเหตุปะทะที่เกิดขึ้นระหว่างที่ตำรวจบังกลาเทศยิงแก๊สน้ำตาและขว้างระเบิดแสงสลายผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนาลาออก การประท้วงในขณะนี้ถือว่าใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่มีการประท้วงนองเลือดเมื่อนางฮาซีนาชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันเมื่อเดือนมกราคมในการเลือกตั้งที่ฝ่ายค้านหลักคว่ำบาตรไม่เข้าร่วม รัฐบาลต้องปิดบริการอินเทอร์เน็ตหวังควบคุมการปลุกระดมคนเข้าร่วมการประท้วง โดยในวันนี้มีรายงานคนงานก่อสร้าง 2 คนเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 30 คน จากการปะทะกัน 3 ฝ่ายระหว่างผู้ประท้วง ตำรวจ และนักเคลื่อนไหวของพรรคสันนิบาตอวามีของนางฮาซีนาในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บ 50 คน จากการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับนักเคลื่อนไหวของพรรครัฐบาลในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และมีผู้เสียชีวิตอีก 2 คนในพื้นที่ทางเหนือ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม มีคนในบังกลาเทศถูกสังหารไม่ต่ำกว่า 150 คน บาดเจ็บหลายพันคน และถูกจับกุมประมาณ 10,000 คน จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการประท้วงนำโดยนักศึกษาที่ไม่พอใจนโยบายกำหนดโควต้าตำแหน่งงานราชการ การประท้วงซาลงเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกโควต้าดังกล่าว อย่างไรก็ดี นักศึกษาได้กลับมาประท้วงประปรายเมื่อสัปดาห์ก่อน เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตในการประท้วง.-814.-สำนักข่าวไทย

ชาวเวเนซุเอลาทั่วลาตินอเมริกาประท้วงเลือกตั้ง

ชาวเวเนซุเอลาในประเทศต่างๆ ทั่วลาตินอเมริกา เดินขบวนตามท้องถนน ประท้วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศบ้านเกิด ขณะที่มีผู้ประท้วงถูกควบคุมตัวในเวเนซุเอลามากถึง 2,000 คน

1 2 3 4 5 120
...