IAEAจะมีบทบาทนำจับตาญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อน
เวียนนา 15 เม.ย.- ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ (IAEA) จะมีบทบาทสำคัญและเต็มที่ในการสังเกตการณ์เรื่องที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะลงสู่ทะเล นายราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการไอเออีเอให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นว่า การที่ไอเออีเอเข้ามามีบทบาทสำคัญ รวมถึงส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสังเกตการณ์และให้การสนับสนุนทางเทคนิค จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างหลักประกันเรื่องความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไอเออีเอจะมีบทบาทเต็มที่ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังโครงการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลที่จะต้องใช้เวลาหลายปี เขาจะกลับไปที่จังหวัดฟูกุชิมะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 หลังจากไปเยี่ยมเมื่อปีก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่กังวล โครงการนี้จะปล่อยน้ำปริมาณมหาศาลที่สะสมในโรงไฟฟ้า เป็นภารกิจซับซ้อนที่ต่างจากการปล่อยน้ำของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อื่น ๆ ทั่วโลก จึงต้องมั่นใจว่าน้ำที่จะปล่อยได้รับการบำบัดตามระดับสูงสุดที่ตกลงกัน ด้านนายคัตสึโนบุ คาโตะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวระหว่างแถลงข่าวตามปกติในวันนี้ว่า ยินดีที่ไอเออีเอเตรียมให้คณะผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ที่ไม่มีการแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ เดือนที่แล้วญี่ปุ่นได้ขอให้ไอเออีเอประเมินด้านความปลอดภัยก่อนประกาศเมื่อวันอังคารว่า ตัดสินใจปล่อยน้ำที่สะสมอยู่ในโรงไฟฟ้ากว่า 1.25 ล้านตันจนถึงเดือนมีนาคม โดยจะผ่านการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้จีน เกาหลีใต้และไต้หวันคัดค้าน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนเรียกร้องญี่ปุ่นอย่าปล่อยน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประเทศเพื่อนบ้านและไอเออีเอ.-สำนักข่าวไทย