
เยอรมนีเผยยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องส่งรถถังช่วยยูเครน
เยอรมนียืนยันจะช่วยยูเครนให้ชนะสงครามสู้รบกับรัสเซีย แต่ระบุว่ายังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องส่งรถถัง ‘เลปเพิร์ด’ (Leopard) ที่เยอรมนีเป็นผู้ผลิต ให้แก่ยูเครนหรือไม่
เยอรมนียืนยันจะช่วยยูเครนให้ชนะสงครามสู้รบกับรัสเซีย แต่ระบุว่ายังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องส่งรถถัง ‘เลปเพิร์ด’ (Leopard) ที่เยอรมนีเป็นผู้ผลิต ให้แก่ยูเครนหรือไม่
ดาวอส 20 ม.ค.- สหรัฐและพันธมิตรในยุโรปรับปากจะจัดส่งยานยนต์หุ้มเกราะ ปืนใหญ่ และเครื่องกระสุนชุดใหม่ให้แก่ยูเครน หนึ่งวันก่อนที่จะมีการประชุมครั้งสำคัญเรื่องให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซียระยะถัดไป กระทรวงกลาโหมสหรัฐเปิดเผยรายการอาวุธมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 82,150 ล้านบาท) ที่จะจัดส่งให้ยูเครน ประกอบด้วยยานเกราะต่อสู้แบรดลีย์ รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ ระบบป้องกันทางอากาศ ขีปนาวุธและกระสุนปืนใหญ่จำนวนมาก อังกฤษประกาศจะจัดส่งขีปนาวุธบริมสโตน 600 ลูก เดนมาร์กจะบริจาคปืนใหญ่วิถีโค้งซีซาร์ผลิตในฝรั่งเศส และสวีเดนจะจัดส่งระบบปืนใหญ่อาร์เชอร์ การประกาศจัดส่งอาวุธเหล่านี้มีขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่กลาโหมและเจ้าหน้าที่ด้านอื่น ๆ จาก 50 ประเทศ รวมถึงสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต 30 ประเทศ จะพบกันที่เมืองรัมชไตน์ในเยอรมนี เพื่อหารือเรื่องช่วยเหลือยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนคาดหวังว่า ที่ประชุมจะตัดสินใจอย่างจริงจัง และสหรัฐจะให้การสนับสนุนทางทหารที่ทรงพลัง แต่จนถึงขณะนี้สหรัฐและเยอรมนียังไม่รับปากจัดส่งรถถังต่อสู้รุ่นใหม่ล่าสุดตามที่ยูเครนร้องขอ ขณะที่รัสเซียเตือนว่า สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นอย่างอันตรายหากตะวันตกจัดส่งรถถังดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย
โตเกียว 9 ธ.ค.- ญี่ปุ่น อังกฤษและอิตาลีประกาศจะร่วมกันพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ในโครงการที่หวังว่าจะร่วมมือในอนาคตกับพันธมิตรอื่น ๆ ญี่ปุ่น อังกฤษและอิตาลีออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า เครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะพร้อมภายในปี 2578 จะนำงานวิจัยในปัจจุบันของทั้ง 3 ประเทศมาผสมผสานเป็นเทคโนโลยีการสู้รบทางอากาศที่ล้ำสมัย ตั้งแต่ศักยภาพด้านการล่องหนไปจนถึงตัวตรวจจับหรือเซ็นเซอร์ไฮเทค ความพยายามอันแรงกล้านี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางทหารที่ล้ำสมัยและความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีในยามที่ทั่วโลกกำลังมีภัยและความก้าวร้าวเพิ่มขึ้น ภาพชุดประกอบการแถลงข่าวเห็นภาพร่างของเครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่บินเหนือภูเขาไฟฟูจิของญี่ปุ่น กรุงลอนดอนของอังกฤษ และกรุงโรมของอิตาลี ทั้ง 3 ประเทศไม่ได้เปิดเผยมูลค่าโครงการ แต่ได้ลงทุนจำนวนมหาศาลแล้วในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการร่วมที่มีชื่อว่า โครงการต่อสู้ทางอากาศโลก (the Global Combat Air Programme) แถลงการณ์ร่วมระบุว่า เครื่องบินรบรุ่นใหม่จะเป็นหัวใจของระบบการต่อสู้ทางอากาศที่จะทำหน้าที่ครอบคลุมหลายด้าน รวมถึงปฏิบัติการร่วมในอนาคตกับสหรัฐ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต และหุ้นส่วนอื่น ๆ ในยุโรป เอเชีย และทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย
วอชิงตัน 9 ธ.ค.- เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า สหรัฐกำลังจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารอีก 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,560 ล้านบาท) ให้แก่ยูเครน ในจำนวนนี้มีระบบที่สามารถตรวจจับและต่อต้านโดรนของรัสเซียได้ ความช่วยเหลือล่าสุดประกอบด้วยลูกกระสุนสำหรับปืนใหญ่วิถีโค้ง (Howitzer) จำนวน 80,000 ลูก และกระสุนไม่ระบุจำนวนสำหรับจรวดหลายลำกล้อง (HIMARS) ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนและการป้องกันภัยทางอากาศ ยานยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้ออเนกประสงค์ (HUMVEES) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ เจ้าหน้าที่เปิดเผยเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ ความช่วยเหลือครั้งนี้น้อยกว่าความช่วยเหลือครั้งก่อน ๆ โดยมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญทางการทหารคาดการณ์ว่า รัสเซียจะลดการโจมตีในฤดูหนาวนี้ นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตมองว่า รัสเซียมีแนวโน้มจะลดปฏิบัติการทางทหารเพื่อรวบรวมกำลังพล และจะโจมตีครั้งใหม่เมื่ออากาศอุ่นขึ้น ทั้งนี้หากรวมความช่วยเหลือล่าสุดแล้ว สหรัฐได้จัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่ต่ำกว่า 671,070 ล้านบาท) นับตั้งแต่รัสเซียทำสงครามในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์.-สำนักข่าวไทย
เคียฟ 17 พ.ย.- ยูเครนเผยว่า กำลังสู้รบอย่างหนักหน่วงกับกองกำลังรัสเซียที่ถอนกำลังจากแคว้นเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครน แล้วมาโหมโจมตีทางฝั่งตะวันออก ด้านนาโตและโปแลนด์สรุปว่า จรวดที่ตกในโปแลนด์น่าจะมาจากยูเครน เจ้าหน้าที่ยูเครนเผยว่า รัฐบาลกำลังทำให้ไฟฟ้ากลับมาใช้งานได้ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังจากถูกรัสเซียระดมถล่มโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนในช่วงต้นสัปดาห์ ด้านที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนเผยทางออนไลน์ว่า กำลังมีการสู้รบอย่างหนักหน่วงในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของประเทศ เพราะรัสเซียได้สับเปลี่ยนกองกำลังบางส่วนจากแคว้นเคอร์ซอนมายังแคว้นโดเนตส์กและแคว้นลูฮันสก์ และอาจเตรียมบุกแคว้นคาร์คิฟ ทางตอนเหนือของยูเครนอีกครั้งหลังจากถูกกองกำลังยูเครนโต้จนล่าถอยไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดาของโปแลนด์แถลงว่า ข้อมูลที่โปแลนด์และพันธมิตรได้รับระบุว่า จรวดที่ตกในหมู่บ้านโปแลนด์ใกล้พรมแดนยูเครนเมื่อวันอังคารและทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นจรวดเอส-300 ผลิตในสมัยสหภาพโซเวียต เป็นจรวดรุ่นเก่า และไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ายิงมาจากรัสเซีย แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ายิงมาจากระบบต่อต้านอากาศยานของยูเครน ด้านนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) แถลงว่า จรวดดังกล่าวน่าจะมาจากระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน แต่ไม่ใช่ความผิดของยูเครน เพราะเป็นรัสเซียที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมดจากการที่ยังคงทำสงครามผิดกฎหมายกับยูเครน.-สำนักข่าวไทย
วอร์ซอ 16 พ.ย.- ทางการโปแลนด์แจ้งว่า กองทัพได้เพิ่มการเฝ้าระวังระดับสูง หลังจากมีขีปนาวุธที่ผลิตในรัสเซียตกเข้ามาในดินแดนโปแลนด์ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า ยิงมาจากที่ใด ทางการโปแลนด์ระบุว่า ขีปนาวุธที่ตกในหมู่บ้านทางตะวันออกเฉียงใต้ใกล้พรมแดนยูเครนเมื่อวันอังคารทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นจรวดผลิตในรัสเซีย ทางการได้เรียกเอกอัครราชทูตรัสเซียเข้าชี้แจงอย่างละเอียดโดยทันที ขณะที่กองทัพได้เพิ่มการเฝ้าระวังระดับสูง หลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติฉุกเฉิน ด้านผู้นำชาติตะวันตกที่กำลังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือ จี 20 (G20) ที่บาหลีของอินโดนีเซียได้จัดการประชุมโต๊ะกลมฉุกเฉินในวันนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐไม่คิดว่าขีปนาวุธถูกยิงมาจากรัสเซีย ขณะที่ฝรั่งเศสขอให้ใช้ความระมัดระวังสูงสุดในการระบุว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ โปแลนด์เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 5 ในสนธิสัญญาก่อตั้งนาโตปี 2492 ที่ระบุว่า ภาคีนาโตเห็นพ้องกันว่า การใช้อาวุธโจมตีภาคีในยุโรปหรืออเมริกาเหนือจะถือเป็นการโจมตีภาคีนาโตทั้งหมด อย่างไรก็ดี การตอบโต้ของนาโตจะพิจารณาเป็นหลักว่า เป็นเหตุจงใจหรือเหตุบังเอิญ ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนกล่าวว่า ขีปนาวุธรัสเซีย 2 ลูกตกในโปแลนด์ เขามองว่าเป็นการทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงอย่างยิ่ง ขณะที่นายดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนกล่าวว่า เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด กรณีที่มีคนพูดว่าขีปนาวุธที่ตกและระเบิดในโปแลนด์อาจเป็นขีปนาวุธยิงจากพื้นสู่อากาศที่กองกำลังยูเครนยิงมา ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียปฏิเสธรายงานข่าวเรื่องรัสเซียอยู่เบื้องหลังหวังเพิ่มความตึงเครียด เหตุขีปนาวุธตกในโปแลนด์เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียระดมยิงขีปนาวุธถล่มเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครนในวันเดียวกัน รวมถึงเมืองลวิฟที่มีพรมแดนติดกับโปแลนด์.-สำนักข่าวไทย
นูซา ดัว 16 พ.ย.- ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐและผู้นำประเทศพันธมิตรจัดการหารือฉุกเฉินในวันนี้ หลังจากมีขีปนาวุธตกในดินแดนของโปแลนด์ใกล้กับพรมแดนยูเครนเมื่อวันอังคาร ทำเนียบขาวสหรัฐแถลงว่า ผู้นำสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) และผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี 7 (G7) เปิดการหารือฉุกเฉินขณะอยู่ระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือจี 20 (G20) ที่บาหลีของอินโดนีเซีย เป็นการประชุมโต๊ะกลมฉุกเฉินเป็นการภายในที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วม ประธานาธิบดีไบเดนตอบปฏิเสธเมื่อผู้สื่อข่าวคนหนึ่งตะโกนถามความคืบหน้าเรื่องขีปนาวุธตกในหมู่บ้านโปแลนด์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ทำเนียบขาวแถลงด้วยว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดาของโปแลนด์ในเช้าวันนี้ ขอให้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปในระหว่างที่กำลังสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น ด้านผู้นำโปแลนด์กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าขีปนาวุธยิงมาจากที่ใด และคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เพราะไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะขีปนาวุธยิงเข้ามาอีก โปแลนด์เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศ เป็นยุโรป 28 ประเทศ และอเมริกาเหนือ 2 ประเทศ โดยมีข้อตกลงกันว่าจะร่วมกันปกป้องสมาชิกที่ถูกประเทศที่ 3 โจมตี.-สำนักข่าวไทย
วอชิงตัน 12 ต.ค. – ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือจี 7 ระบุว่า กลุ่มจี 7 จะสนับสนุนยูเครนต่อไปตราบนานเท่านาน หลังรัสเซียเปิดฉากยิงจรวดโจมตีหลายเมืองและกรุงเคียฟของยูเครนเมื่อวันจันทร์ กลุ่มจี 7 ซึ่งประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า กลุ่มจี 7 จะยังคงสนับสนุนด้านการเงิน มนุษยธรรม กองทัพ และการทูตให้แก่ยูเครน และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างยูเครนต่อไปตราบนานเท่านาน แถลงการณ์ดังกล่าวของกลุ่มจี 7 ยังประณามประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ลงนามอนุมัติการผนวกแคว้น 4 แห่งของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียโดยอ้างผลประชามติที่จัดขึ้นเอง ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เรียกร้องให้กลุ่มจี 7 สนับสนุนยูเครนในด้านการป้องกันภัยทางอากาศมากขึ้น รวมถึงภารกิจระหว่างประเทศบริเวณพรมแดนยูเครน-เบลารุส หลังจากที่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน ได้ยินยอมให้ทหารรัสเซียลงพื้นที่ประจำการบริเวณพรมแดนติดยูเครน โดยระบุว่าเป็นการป้องกันภัยคุกคามจากรัฐบาลยูเครน ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เผยกับซีเอ็นเอ็นในวันอังคารว่า […]
มอสโก 11 ต.ค.- รัสเซียเตือนว่า จะตอบโต้ที่ชาติตะวันตกเพิ่มการให้ความช่วยเหลือยูเครนที่กำลังมีความขัดแย้งกับรัสเซีย แม้ว่ารัสเซียไม่ต้องการขัดแย้งกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตโดยตรงก็ตาม สำนักข่าวไออาร์เอ โนวอสตี ของทางการรัสเซีย รายงานวันนี้อ้างคำกล่าวของนายเซอร์เก เรียบคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซียว่า รัสเซียขอเตือนและหวังว่าชาติตะวันตกจะตระหนักถึงอันตรายของการที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ขยายขอบเขตการทำสงครามอย่างไร้การควบคุม แม้ว่ารัสเซียไม่ต้องการขัดแย้งกับนาโตโดยตรงก็ตาม ด้านนายอนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐ กล่าวกับสื่อว่า ยิ่งชาติตะวันตกให้ความช่วยเหลือยูเครน ยิ่งทำให้สงครามเสี่ยงขยายวงกว้าง ความช่วยเหลือประเภทการให้ข้อมูลข่าวกรอง คำสั่งและคำแนะนำในการสู้รบ จะทำให้สงครามขยายขอบเขตมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างรัสเซียกับนาโต ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และผู้นำในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือจี 7 (G7) จะประชุมออนไลน์ในวันนี้ เพื่อหารือเรื่องที่รับปากจะจัดสรรความช่วยเหลือยูเครน ตามที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า จำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ หลังจากรัสเซียใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดถล่มหลายเมืองในยูเครนพร้อมกันเมื่อเช้าวันจันทร์ โดยอ้างว่าเพื่อแก้แค้นที่ยูเครนระเบิดสะพานเชื่อมไครเมียที่เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงให้แก่กองกำลังรัสเซียในยูเครน.-สำนักข่าวไทย
เคียฟ 3 ต.ค. – บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู 9 ประเทศในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อสนับสนุนให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต บรรดาผู้นำของสาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย นอร์ทมาซิโดเนีย มอนเตเนโกร โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวาเกีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของอียูและนาโต ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันที่ระบุว่า บรรดาผู้นำของทั้ง 9 ประเทศขอสนับสนุนการตัดสินใจพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ในงานประชุมสุดยอดบูคาเรสต์ปี 2551 ทั้งยังประกาศว่า ชทั้ง 9 ประเทศไม่มีวันยอมรับการผนวกดินแดนใดๆ ก็ตามของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และขอให้ประเทศสมาชิกของอียูและนาโตเร่งให้ความช่วยเหลือด้านทหารแก่ยูเครนในทันที ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวเมื่อช่วงคืนวันอาทิตย์ว่า เขารู้สึกยินดีต่อแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวของบรรดาผู้นำทั้ง 9 ประเทศ และหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ก่อนหน้านี้ผู้นำยูเครนได้ประกาศสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโตเมื่อวันเสาร์ แม้มีผู้เชี่ยวชาญหลายรายออกมาเตือนว่ายูเครนอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เนื่องจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของยูเครนจะต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกทั้งหมดของนาโต 30 ประเทศ. -สำนักข่าวไทย
มอสโก 26 ก.ย.- นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครนว่า พันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐจะไม่เข้ามาข้องเกี่ยวโดยตรงกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพราะกลัวหายนะนิวเคลียร์ นายเมดเวเดฟ วัย 57 ปี รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซียโพสต์ในเทเลแกรมว่า รัสเซียมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองด้วยอาวุธนิวเคลียร์หากถูกกดดันจนเลยขีดจำกัด เรื่องนี้ไม่ใช่การขู่ให้กลัว ขอให้ลองนึกภาพรัสเซียถูกบีบให้ต้องใช้อาวุธที่น่ากลัวที่สุดกับระบอบยูเครนที่ดำเนินการรุกรานขนานใหญ่ที่เป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของรัสเซีย เขาเชื่อว่า องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต จะไม่เข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แม้แต่ในกรณีดังกล่าว เพราะบรรดาผู้ปลุกปั่นยุยงในยุโรปและข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไม่อยากตายเพราะหายนะนิวเคลียร์ นายเมดเวเดฟซึ่งเป็นคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ย้ำว่า ขอเตือนไปถึงคนหูหนวกที่ฟังแต่เสียงของตัวเองว่า รัสเซียมีสิทธิที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็น โดยจะทำล่วงหน้าและเป็นไปตามนโยบายของประเทศอย่างเคร่งครัด ประธานาธิบดีปูตินประกาศระดมพลเมื่อวันพุธ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และสนับสนุนการลงประชามติขอรวมกับรัสเซียในดินแดนยูเครนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย พร้อมกับเตือนชาติตะวันตกว่า เขาไม่ได้ขู่ให้กลัวเมื่อพูดว่าพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ปกป้องรัสเซีย ทั้งนี้รัสเซียมีหลักการเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ว่า ประธานาธิบดีอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์หากประเทศเผชิญภัยที่มีอยู่จริง รวมถึงภัยจากอาวุธทั่วไป ปัจจุบันหัวรบนิวเคลียร์ร้อยละ 90 ของทั้งโลกอยู่ในความครอบครองรัสเซียและสหรัฐ.-สำนักข่าวไทย
นาโตประกาศว่า รัสเซียคือปัญหาสำคัญที่สุด และเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของกลุ่มนาโต