ธารน้ำแข็งชนเขื่อนแตกในอินเดีย พบแล้ว 14 ศพ
เหตุธารน้ำแข็งแตกและไหลชนเขื่อนเมื่อวานนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คนแล้ว ขณะที่ทหารอินเดียหลายร้อยนายลงพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัยเพื่อค้นหาผู้สูญหายอย่างน้อย 125 คน
เหตุธารน้ำแข็งแตกและไหลชนเขื่อนเมื่อวานนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คนแล้ว ขณะที่ทหารอินเดียหลายร้อยนายลงพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัยเพื่อค้นหาผู้สูญหายอย่างน้อย 125 คน
นิวเดลี 7 ก.พ.- รัฐอุตตราขัณฑ์ ทางเหนือของอินเดียแจ้งว่า อาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 100-150 คน จากเหตุธารน้ำแข็งแถบเทือกเขาหิมาลัยแตกและไหลมาชนเขื่อนแตก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในเช้าวันนี้ และต้องอพยพชาวบ้านใต้เขื่อนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เผยว่า ยังไม่สามารถยืนยันยอดผู้เสียชีวิตได้ ผู้เห็นเหตุการณ์ในหมู่บ้านเหนือเขื่อนเล่าว่า เห็นทั้งกำแพงเขื่อน ก้อนหินและกระแสน้ำไหลลงมาตามลำห้วยอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถแจ้งเตือนใครได้ทัน คาดว่ากลุ่มคนทำงานใกล้โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในบริเวณนั้นถูกกระแสน้ำพัดหายไป รวมถึงชาวบ้านที่เดินหาฟืนหรือพาปศุสัตว์ไปเล็มหญ้าริมลำห้วย บอกไม่ได้ว่ามีคนสูญหายมากน้อยเท่าใด ชาวบ้านในพื้นที่ส่งต่อคลิปเห็นกระแสน้ำกวาดเอาซากเขื่อนและทุกอย่างที่อยู่ในเส้นทาง อย่างไรก็ดี มุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์แจ้งว่า ระดับน้ำในแม่น้ำขณะนี้สูงกว่าปกติ 1 เมตร และเริ่มไหลช้าลงแล้ว นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียทวีตหลังจากหารือกับมุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ว่า อินดียขอยืนหยัดเคียงข้างคนในรัฐนี้ และทั้งประเทศกำลังสวดภาวนาให้ทุกคนรอดปลอดภัย ด้านนายอมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยทวีตว่า กองทัพอากาศเตรียมพร้อมเสริมปฏิบัติการกู้ภัย ขณะที่หน่วยรับมือภัยพิบัติเดินทางทางอากาศไปยังที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกนายที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานเต็มที่ ขณะเดียวกันรัฐอุตตระประเทศที่อยู่ติดกันและมีประชากรมากที่สุดในอินเดียได้เพิ่มการระวังพื้นที่ริมฝั่งน้ำในระดับสูงเพราะเกรงจะได้รับผลกระทบเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย
อะแลสกา 25 ม.ค. – ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า น้ำแข็งบนโลกในปัจจุบันละลายเร็วกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึงร้อยละ 57 เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น ผลการศึกษาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการเดอะไครโอสเฟียร์ (The Cryosphere) ระบุว่า ในภาพรวม น้ำแข็งราว 28 ล้านล้านตันได้ละลายไปจากทะเลน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งตั้งแต่ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 เป็นต้นมา และขณะนี้น้ำแข็งมีอัตราละลายในแต่ละปีเร็วกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึงร้อยละ 57 คณะนักวิทยาศาสตร์คำนวณโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมปี 2537-2560 การวัดขนาดสถานที่ และแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์จนพบว่า น้ำแข็งบนโลกละลายเฉลี่ยปีละ 0.8 ล้านล้านตันในช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 แต่กลับละลายเพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านล้านตันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายโทมัส สเลเตอร์ นักธารน้ำแข็งจากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษและหนึ่งในผู้เขียนรายงานผลการศึกษาดังกล่าวเผยว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในเวลาเพียง 30 ปี ผู้คนในพื้นที่ที่ต้องอาศัยธารน้ำแข็งบนภูเขาเพื่อดื่มกินหรือต้องพึ่งพาทะเลน้ำแข็งในฤดูหนาวเพื่อคุ้มกันบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งจากพายุได้รู้ถึงปัญหานี้อย่างชัดเจนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปก็เริ่มที่จะตระหนักถึงปัญหาน้ำแข็งละลายบนโลกเช่นกัน. -สำนักข่าวไทย
ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาพิเรนีส (PYRENEES) ในประเทศสเปน กำลังละลายจากภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING) และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นักสำรวจบอกว่า ธารน้ำแข็งนี้จะหายไปภายในเวลา 20 ปี
ควันจากไฟป่าออสเตรเลียได้ลอยไปไกลกว่า 2,000 กิโลเมตรข้ามทะเลแทสมัน และทำให้เกิดควันปกคลุมนิวซีแลนด์ส่งผลให้หิมะและธารน้ำแข็งเปลี่ยนจากสีขาวกลายเป็นสีคาราเมล