อะแลสกา 25 ม.ค. – ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า น้ำแข็งบนโลกในปัจจุบันละลายเร็วกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึงร้อยละ 57 เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น
ผลการศึกษาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการเดอะไครโอสเฟียร์ (The Cryosphere) ระบุว่า ในภาพรวม น้ำแข็งราว 28 ล้านล้านตันได้ละลายไปจากทะเลน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งตั้งแต่ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 เป็นต้นมา และขณะนี้น้ำแข็งมีอัตราละลายในแต่ละปีเร็วกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึงร้อยละ 57 คณะนักวิทยาศาสตร์คำนวณโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมปี 2537-2560 การวัดขนาดสถานที่ และแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์จนพบว่า น้ำแข็งบนโลกละลายเฉลี่ยปีละ 0.8 ล้านล้านตันในช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 แต่กลับละลายเพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านล้านตันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นายโทมัส สเลเตอร์ นักธารน้ำแข็งจากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษและหนึ่งในผู้เขียนรายงานผลการศึกษาดังกล่าวเผยว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในเวลาเพียง 30 ปี ผู้คนในพื้นที่ที่ต้องอาศัยธารน้ำแข็งบนภูเขาเพื่อดื่มกินหรือต้องพึ่งพาทะเลน้ำแข็งในฤดูหนาวเพื่อคุ้มกันบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งจากพายุได้รู้ถึงปัญหานี้อย่างชัดเจนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ผู้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปก็เริ่มที่จะตระหนักถึงปัญหาน้ำแข็งละลายบนโลกเช่นกัน. -สำนักข่าวไทย