รัฐบาลลาตินอเมริกาเข้าข้างเม็กซิโกที่ถูกเอกวาดอร์บุกสถานทูต

กีโต 7 เม.ย.- รัฐบาลหลายประเทศในลาตินอเมริกาแสดงท่าทีสนับสนุนเม็กซิโกและวิพากษ์วิจารณ์เอกวาดอร์ หลังจากตำรวจเอกวาดอร์บุกสถานทูตเม็กซิโกในกรุงกีโตของเอกวาดอร์ เพื่อจับกุมอดีตรองประธานาธิบดีเอกวาดอร์ที่หลบซ่อนตัวอยู่ รัฐบาลในลาตินอเมริกาที่มีแนวนโยบายแตกต่างกันตั้งแต่ฝ่ายซ้ายอย่างบราซิลและโคลอมเบียไปจนถึงฝ่ายขวาอย่างอาร์เจนตินาและอุรุกวัย วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงกรณีที่ตำรวจเอกวาดอร์บุกจับกุมนายฮอร์เฆ กลาส อดีตรองประธานาธิบดีที่ต้องคดีทุจริต 2 คดีเมื่อคืนวันศุกร์ และทำให้เม็กซิโกประกาศระงับความสัมพันธ์กับเอกวาดอร์ กระทรวงต่างประเทศบราซิลแถลงว่า การกระทำของเอกวาดอร์จะต้องถูกปฏิเสธอย่างเด็ดขาด  ไม่ว่าจะมีข้ออ้างสร้างความชอบธรรมใดก็ตาม เพราะเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อบรรทัดฐานสากลที่ห้ามการบุกสถานทูตของประเทศอื่น ขอย้ำว่าบราซิลขออยู่เคียงข้างเม็กซิโก ขณะที่ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบียโพสต์เอ็กซ์ว่า ลาตินอเมริกาจะต้องคงไว้ซึ่งหลักกฎหมายสากลในยามที่ความป่าเถื่อนกำลังรุกรานโลก รัฐบาลโคลอมเบียแถลงว่า จะหาทางให้ความคุ้มครองทางกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนแก่นายกลาสที่ถูกทางการเอกวาดอร์ควบคุมตัวในวันเดียวกับที่ได้รับอนุมัติคำขอลี้ภัยทางการเมืองจากเม็กซิโก นายกลาสหลบซ่อนตัวอยู่ในสถานทูตเม็กซิโกที่ตั้งอยู่ในย่านการเงินของกรุงกีโตตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เอกวาดอร์ตำหนิเม็กซิโกว่าให้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากนายกลาสเป็นผู้ต้องคดีทุจริตและขณะนี้ถูกคุมขังในเรือนจำเมืองกัวยากิลที่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ.-814.-สำนักข่าวไทย  

ตั้งข้อหาเพิ่ม อดีต รมว.คมนาคมสิงคโปร์คดีรับสินบน

สิงคโปร์ 25 มี.ค.- นายเอส อิสวาราน อดีตรัฐมนตรีคมนาคมของสิงคโปร์ถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 8 ข้อหา ในคดีรับสินบน ซึ่งเป็นคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดคดีหนึ่งของสิงคโปร์ นายอิสวารานวัย 61 ปี กลับขึ้นศาลอีกครั้งในวันนี้ เพื่อรับทราบข้อหาใหม่ 8 ข้อหา หลังจากถูกตั้งข้อหาครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม สำนักงานสอบสวนการประพฤติทุจริตของสิงคโปร์แถลงวันนี้ว่า นายอิสวารานถูกกล่าวหาว่ารับของมีค่า เช่น สุรา ไม้กอล์ฟ จักรยานราคาแพง มูลค่ารวม 18,956 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 511,520 บาท) จากผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่งที่มีบริษัทแม่เป็นผู้ได้รับสัมปทานงานก่อสร้างที่สถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งในปี 2549 นายอิสวารานดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมในปี 2564 การรับสินบนเกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 คำฟ้องระบุว่า เขาพัวพันกับการให้สัมปทานเรื่องการก่อสร้างเพิ่มเติมที่สถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว นายอิสวารานซึ่งให้การปฏิเสธข้อหาใหม่ถูกตั้งข้อหารวมทั้งหมดจนถึงขณะนี้ 35 ข้อหา เช่น ทุจริต ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดเรื่องการรับสินบนจะถูกปรับสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.7 ล้านบาท) หรือจำคุก 7 ปี นายอิสวารานถูกจับกุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม […]

รัฐสภาเวียดนามเห็นชอบการลาออกของประธานาธิบดี

รัฐสภาเวียดนามให้ความเห็นชอบการลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีหวอ วัน เทือง ซึ่งถือเป็นผู้นำระดับสูงรายล่าสุดที่ก้าวลงจากตำแหน่งท่ามกลางการกวาดล้างการทุจริตอย่างเข้มข้นของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเวียดนาม

เวียดนามเปิดการไต่สวนคดีฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์

โฮจิมินห์ 5 มี.ค.- เวียดนามเปิดการไต่สวนคดีฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศในวันนี้ มีจำเลยเกือบ 90 คน ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการฉ้อโกงเงิน 304 ล้านล้านด่ง (ราว 441,200 ล้านบาท) ในจำนวนนี้บางคนอาจถูกลงโทษประหารชีวิต ศาลประชาชนในนครโฮจิมินห์เปิดการไต่สวนคดีที่คาดว่าจะยืดเยื้อจนถึงสิ้นเดือนเมษายน เป็นคดีของนางเจือง มี ลัน เศรษฐีนีด้านอสังหาริมทรัพย์และพรรคพวกที่ถูกคณะสอบสวนกล่าวหาว่า ยักยอกเงินของธนาคารไซ่ง่อน จอยต์ สต็อก คอมเมอร์เชียล แบงก์หรือเอสซีบี (SCB) ที่เธอควบคุมผ่านตัวแทนหลายสิบคน แต่ทนายความของเธอปฏิเสธ หากผลการสอบสวนพิสูจน์ได้ว่า มีการยักยอกเงินจริง ก็จะเป็นคดีฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเอเชีย และมากกว่าคดียักยอกเงินในกองทุนพัฒนามาเลเซียหรือวันเอ็มดีบี (1MDB) ที่มีมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 161,280 ล้านบาท) คดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามการทุจริตรับสินบนที่นายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์รับปากมาหลายปีแล้วว่าจะกวาดล้างให้หมด ช่วงหลายเดือนมานี้มีบุคคลตำแหน่งสูงในเวียดนามหลายคนถูกจับกุมหรือลาออก เช่น อดีตประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ที่ลาออกเมื่อเดือนมกราคม 2566 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์กล่าวโทษเขาเรื่องที่เจ้าหน้าที่ในความดูแลของเขาทำการละเมิดและกระทำความผิด.-814.-สำนักข่าวไทย

ฮ่องกงจับ 7 ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องคดีฟอกเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์

เจ้าหน้าที่ฮ่องกงกล่าววันนี้ว่า จับกุมผู้ต้องสงสัย 7 ราย ที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นคดีใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก

นายกฯ มาเลเซียชี้แจงเรื่องอดีตนายกฯ ได้รับอภัยโทษ

กัวลาลัมเปอร์ 5 ก.พ.- นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซียชี้แจงเรื่องที่นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจำคุกกึ่งหนึ่ง และขอให้ทุกคนใจเย็นหลังจากสังคมเกิดกระแสไม่พอใจว่าจะไม่เป็นผลดีต่อความพยายามปราบปรามการทุจริต นายกรัฐมนตรีอันวาร์กล่าวในงานชุมนุมของข้าราชการงานหนึ่งในวันนี้ว่า การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระราชาธิบดีที่จะลดหย่อนโทษให้แก่นายนาจิบถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ไม่จำเป็นต้องให้คำอธิบาย และเป็นเรื่องของความเห็นอกเห็นใจ รัฐบาลเข้าใจดีว่าประชาชนมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างมากมาย จึงได้ทิ้งช่วงเวลาให้ระยะหนึ่ง แต่หลังจากที่ได้ชี้แจงแล้ว ทุกอย่างควรยุติ เขายอมรับว่า เป็นผู้เสนอคำขอพระราชทานอภัยโทษของนายนาจิบต่อคณะกรรมการอภัยโทษ และได้ขอให้คณะกรรมการฯ เปิดการหารือ แต่ไม่ได้ทำไปเพราะถูกกดดันจากพรรคอัมโน พรรคอัมโนเป็นพรรคที่นายนาจิบเคยดำรงตำแหน่งประธานพรรคระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปี 2552-2561 คณะกรรมการอภัยโทษที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นประธานประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์เรื่องลดโทษจำคุกกึ่งหนึ่งให้แก่นายนาจิบ วัย 70 ปี จากโทษจำคุก 12 ปีในคดีรับสินบนและฟอกเงินเกี่ยวกับกองทุนพัฒนามาเลเซียหรือ วันเอ็มดีบี (1MDB) โดยไม่ได้ให้เหตุผลของการลดโทษ และเป็นการตัดสินใจก่อนที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลละฮ์แห่งปะหังครองราชย์ครบวาระ 5 ปี เมื่อวันที่ 31 มกราคม ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์มาเลเซียในทางลบอาจถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายยุยงปลุกปั่นที่ใช้มาตั้งแต่สมัยมาเลเซียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ.-814.-สำนักข่าวไทย

มาเลเซียลดโทษจำคุกกึ่งหนึ่งให้อดีตนายกฯ

กัวลาลัมเปอร์ 2 ก.พ.- คณะกรรมการอภัยโทษของมาเลเซียมีคำตัดสินให้ลดหย่อนโทษกึ่งหนึ่งแก่นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตและฟอกเงินที่ยักยอกมาจากเงินกองทุนพัฒนามาเลเซียหรือวันเอ็มดีบี (1MDB) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการอภัยโทษออกแถลงการณ์ในวันนี้ แต่ไม่ได้ให้เหตุผลของการลดหย่อนโทษ ซึ่งจะทำให้นายนาจิบที่อยู่ระหว่างการรับโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี ได้รับการปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม 2571 และได้รับการลดค่าปรับลงจาก 210 ล้านริงกิต (ราว 1,576 ล้านบาท) เหลือ 50 ล้านริงกิต (ราว 375 ล้านบาท) คณะกรรมการอภัยโทษมีหน้าที่ถวายคำแนะนำแก่สมเด็จพระราชาธิบดี ซึ่งทรงเป็นประธาน โดยมีอัยการสูงสุดและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นกรรมการ ผลการสอบสวนของทางการสหรัฐและมาเลเซียประเมินว่า มีการยักยอกเงินจากวันเอ็มดีบีประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 158,650 ล้านบาท) และเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 35,255 ล้านบาท) ถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารที่เชื่อมโยงกับนายนาจิบ เขาได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษในเดือนสิงหาคม 2565 ไม่นานหลังจากศาลฎีกามาเลเซียพิพากษายืนตามความผิดและโทษของเขา นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกจำคุกเป็นคนแรกของมาเลเซีย.-814.-สำนักข่าวไทย

อดีตนายกฯ ปากีสถาน-ภรรยาถูกศาลลงโทษจำคุก 14 ปี

นายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานและนางบุชรา ข่าน ภรรยาของเขาถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกคนละ 14 ปี ในคดีที่เกี่ยวช้องกับการนำของขวัญของรัฐบาลไปจำหน่าย

ยูเครนเปิดโปงทุจริตจัดซื้ออาวุธเกือบ 1,500 ล้านบาท

เคียฟ 28 ม.ค.- สำนักบริการความมั่นคงแห่งยูเครนหรือเอสบียู (SBU) แจ้งพบการทุจริตในการจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหมคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1,500 ล้านฮริฟเนีย (เกือบ 1,500 ล้านบาท) ซึ่งจะมีผลกระทบหนักต่อยูเครนที่ยังคงทำสงครามกับรัสเซียมาเกือบ 2 ปีแล้ว เอสบียูซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลยูเครนประกาศเรื่องนี้ โดยได้รับการยืนยันจากกระทรวงกลาโหมว่า ได้สอบสวนเจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมและผู้จัดการของลวิฟ อาร์เซนอล บริษัทผู้จัดหาอาวุธที่ยักยอกเงินในการจัดซื้อลูกปืนใหญ่เกือบ 1,500 ล้านฮริฟเนีย ผลการสอบสวนพบว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งอดีตและปัจจุบันในกระทรวงกลาโหมและผู้บริหารของบริษัทในเครือพัวพันกับการยักยอกการจัดซื้อลูกปืนใหญ่ 100,000 ลูกให้แก่กองทัพ โดยมีการทำสัญญากับลวิฟ อาร์เซนอลในเดือนสิงหาคม 2565 หรือ 6 เดือนหลังจากรัสเซียบุกยูเครน และมีการจ่ายเงินล่วงหน้า เงินบางส่วนถูกโอนไปต่างประเทศ แต่ไม่มีการจัดส่งอาวุธตามสัญญา และหลังจากนั้นเงินบางส่วนก็ถูกโอนไปยังบัญชีต่างประเทศอื่น ๆ การทุจริตในกองทัพยูเครนเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับยูเครนที่พยายามรักษาเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการทำสงครามกับรัสเซีย และพยายามเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู นายโอเลกซี เรซนีคอฟ ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเดือนกันยายน 2566 เพราะเกิดการทุจริตเรื่องการจัดหาอาหารและจัดซื้อเครื่องแบบให้แก่กำลังพล แม้ว่าเขาไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องด้วยตนเอง และได้รับการยอมรับเรื่องเป็นตัวแทนประเทศในการเจรจากับพันธมิตรชาติตะวันตกก็ตาม.-814.-สำนักข่าวไทย

อดีตรัฐมนตรีสิงคโปร์ถูกตั้งข้อหาทุจริต

สำนักงานสอบสวนการกระทำทุจริต หรือ ซีพีไอบี ของสิงคโปร์กล่าววันนี้ว่า นายเอส อิสวาราน อดีตรัฐมนตรีคมนาคมถูกตั้งข้อหาทุจริต ซึ่งเป็นคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับคนระดับรัฐมนตรีที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในประเทศสิงคโปร์

สหรัฐห้ามอดีต ปธน. กัวเตมาลาเข้าประเทศ

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าววานนี้ว่า นายอาเลฮันโดร จัมมัตเตย์ อดีตประธานาธิบดีกัวเตมาลา ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศสหรัฐได้ จากข้อกล่าวหาที่ว่า เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างมีนัยสำคัญ

มาเลเซียจะพิจารณาเรื่องอดีตนายกฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ

กัวลาลัมเปอร์ 10 ม.ค. – สถานีโทรทัศน์แชนเนลนิวส์เอเชีย หรือซีเอ็นเอ (CNA) ของสิงคโปร์ รายงานวันนี้ว่า มาเลเซียเตรียมพิจารณาเรื่องที่อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ซีเอ็นเอรายงานว่า คณะกรรมการอภัยโทษประกอบด้วยอัยการสูงสุดและเจ้าหน้าที่รัฐบาล มีหน้าที่ถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระราชาธิบดี โดยเตรียมจะประชุมกันในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม และน่าจะตัดสินใจเรื่องที่นายนาจิบยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ นายนาจิบวัย 70 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของมาเลเซียระหว่างปี 2552-2561 เขากำลังรับโทษจำคุก 12 ปีในคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับกองทุนพัฒนามาเลเซีย (1MDB) เจ้าหน้าที่สอบสวนของมาเลเซียและสหรัฐประเมินว่า มีการยักยอกเงินจากกองทุนนี้ราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 157,266 ล้านบาท) ในจำนวนนี้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34,948 ล้านบาท) ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารที่โยงกับนายนาจิบ แต่เขายืนกรานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นายนาจิบเริ่มรับโทษจำคุกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 หลังจากศาลฎีกาไม่รับคำร้องของเขา นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่ถูกจำคุก นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการถูกพิจารณาคดีทุจริตอีกหลายคดี.-814.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 5 29
...