กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลรวม 3 ราย คือ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท
การกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กรณีเป็นความผิดทุจริตตามมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ และการกล่าวโทษในกรณีนี้ มีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในการรวบรวมเอกสารหลักฐานในคดีดังกล่าว ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือและได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลของต่างประเทศหลายแห่ง.-511-สำนักข่าวไทย