13 พฤษภาคม 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์
โซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูล บอร์ด สปสช. ไฟเขียว! เกณฑ์จ่ายเงินคุ้มครองคนไทย ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมแนบข้อความเชิญชวนลงทะเบียนประกันแพ้วัคซีนฟรีกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับ “ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.” แล้วพบว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
บทสรุป : แชร์ได้ หากอธิบายเพิ่ม
· เป็นการนำข้อมูลจริง 2 ชิ้นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน มาผสมรวมกัน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด
· ข้อมูลชิ้นที่ 1 – บอร์ด สปสช. มีมติช่วยเหลือเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จริง
· ข้อมูลชิ้นที่ 2 – “ทิพยประกันภัย” มีการเปิดให้ลงทะเบียนรับความคุ้มครองประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 จริง จำนวน 1 ล้านสิทธิภายใน 31 พ.ค. 64
ข้อมูลที่ถูกแชร์
“ถ้าจองฉีดวัคซีนสำเร็จแล้วอย่าลืมไปลงทะเบียนประกันแพ้วัคซีนฟรี คุ้มครอง 60 วันนับจากวันที่ฉีด ลืงทะเบียนประกันนี้ภายในวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2564 นี้เท่านั้น https://register.tipinsure.com/registercovid19/vaccine บอร์ด สปสช. ไฟเขียว! เกณฑ์จ่ายเงินคุ้มครองคนไทย ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้ปรับเกณฑ์และแนวทางการจ่ายบริการโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใน 3 ด้าน ดังนี้…source :: https://www.facebook.com/113793413314165/posts/513711779988991/”
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจาก ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งยืนยันว่า ชุดข้อมูลที่ส่งต่อกันบนโซเชียลมีเดียนั้น เป็นการนำข้อเท็จจริงจากข่าวของ สปสช. และ โครงการรณรงค์ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งมารวมเข้าด้วยกัน
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าประชาชนบางส่วนอาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจว่าภายหลังการฉีดวัคซีน จะเกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร แต่ข้อมูลทางวิชาการพบว่าผลกระทบภายหลังจากการการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีน้อยมาก ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการฉีดมากกว่า
ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทุกสิทธิ ทั้งผู้ใช้ สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการ สปสช.จึงได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนแต่อย่างใด
ทำความเข้าใจ กรณีข้อความที่แชร์กัน ว่า “ถ้าจองวัคซีนสำเร็จแล้ว อย่าลืมไปลงทะเบียนประกันแพ้วัคซีนโควิด-19”
รองเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน บอร์ด สปสช.มีมติช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 และใช้เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้พิเศษ โดยมีกติกาที่ชัดเจน สำหรับบริษัทเอกชน อาจจะมีการทำแคมเปญก็เป็นส่วนของบริษัทนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สปสช. ข้อมูลที่มีการแชร์เหมือนนำข้อความมาแปะเข้ารวมกัน ระหว่างข่าว มติบอร์ด สปสช. กับแคมเปญของบริษัทนั้น
เกณฑ์การจ่ายเงินคุ้มครองคนไทย 3 กลุ่ม หากได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
กลุ่มที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หากได้รับผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ได้รับอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บต่อเนื่องจะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 100,000 บาท
2.หากเป็นมากขึ้นถึงขั้นพิการจะได้รับเงินชดเชยเบื้องต้นไม่เกิน 240,000 บาท
3.หากเกิดกรณีการเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 400,000 บาท
สามารถยื่นคำร้องเพื่อรับเงินเยียวยาได้ที่ช่องทางใดบ้าง
หากประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลใด และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ สามารถยื่นเรื่องได้ที่โรงพยาบาลนั้น หรือต่างจังหวัดสามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งนี้ หากอยู่ในพื้นที่ของสปสช.เขต ก็สามารถยื่นได้ที่สปสช. เขตนั้น โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการเขต เมื่ออนุกรรมการระดับเขตได้รับเรื่องก็จะรีบพิจารณา เพื่อดำเนินการจ่ายค่าชดเชยภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่อนุกรรมการฯ ได้รับเรื่อง
หลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ ในการพิจารณาจำนวนเงิน
หลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ใช้หลักเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในมาตรา 41 ของพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับประชาชนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นภายหลังการรักษา แต่ในกรณีของโควิด-19 เราไม่ได้ใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เป็นงบประมาณพิเศษที่ทางรัฐบาลจัดสรรมาให้ และทำให้สอดคล้องกับกติกาที่มีอยู่แล้ว เพื่อทำให้การดำเนินการ มีความรวดเร็วขึ้น
สปสช. ยืนยัน คนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ตรวจ-รักษาโควิดฟรี
สำหรับกรณีการใช้สิทธิตรวจและรักษาโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คนไทยทุกคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองฟรีได้ ซึ่ง สปสช. จ่ายให้ หากตรวจแล้วได้ผลเป็นบวกโรงพยาบาลที่ตรวจก็จะรับรักษาไว้เป็นคนไข้ของตัวเอง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน รัฐบาลจะจ่ายให้ผ่านทางกองทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากประชาชนได้ กล่าวคือ ติดโควิดรักษาฟรี รัฐบาลดูแลให้
“TIP” แจกล้านสิทธิประกันแพ้วัคซีนโควิด
สำหรับกรณีเชิญชวนลงทะเบียนประกันแพ้วัคซีน “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ https://www.dhipaya.co.th/home แล้วพบว่า เป็นโครงการ “TIP ห่วงไทย สู้ภัย COVID” ของบริษัท ทิพยประกันภัย เพื่อรับความคุ้มครองประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 จำนวน 1ล้านสิทธิ ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 64 จนกว่าสิทธิจะหมด สำหรับโครงการดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองหากเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง จนเกิดอาการโคม่าจากการฉีดวัคซีน ทุนประกัน 100,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 60 วัน นับจากวันที่เริ่มฉีดวัคซีนขณะที่จำนวนสิทธิของผู้ที่คนลงทะเบียนกับโครงการ “TIPห่วงไทย สู้ภัยโควิด” มีจำนวน 870,375 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น.)
“ทิพยประกันภัย” ยืนยันข้อมูลของผู้ลงทะเบียนเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลความปลอดภัย ข้อมูลของผู้ลงทะเบียนนั้น ทิพยประกันภัย เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) และเป็นบริษัทประกันวินาศภัยแห่งแรกของไทย ที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 27001:2013 ทุกระบบด้าน IT สารสนเทศในองค์กร โดยบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการปกป้องข้อมูลของลูกค้าจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตามนโยบายการรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security Policy) อีกทั้ง มีการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด และเพิ่มความมั่นใจแก่ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ของบริษัทฯ ในด้านการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นขอให้ประชาชน มั่นใจได้ว่า การบริหารจัดการข้อมูลความปลอดภัย ของผู้ลงทะเบียนจะเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และอยู่ในแนวทางของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
จากที่มีประชาชนแชร์โครงการของทิพย ไปคู่กับ สปสช. ความคิดเห็นของทิพยประกันภัย มีดังนี้
ทิพยประกันภัย ขอชี้แจงว่า โครงการทั้งสองโครงการ เป็นคนละโครงการกัน โดยโครงการ “TIPห่วงไทย สู้ภัยโควิด” ของทิพยประกันภัย ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หลังจากนั้น โครงการของ สปสช. จึงค่อยเกิดขึ้น แต่ด้วยมีประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารและเกิดการเข้าใจผิดนำโครงการ 2 โครงการนี้ไปรวมกันแล้วแชร์ออกไปในโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก
อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความสนใจในการหาข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมถึงวัฒนธรรมในการแบ่งปันข้อมูลบอกต่อ ซึ่งการนำข้อมูลทั้ง 2 โครงการไปรวมกันโดยมิได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจน อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจว่าเป็นโครงการเดียวกันหรือเกี่ยวโยงกัน และอาจทำให้สับสนในเรื่องของกระบวนการในการรับสิทธิ เนื่องจากทั้ง 2 โครงการมีการะบวนการในการรับสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
แต่ทั้งนี้ทั้ง 2 โครงการ ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือเพื่อต้องการสร้างความมั่นใจและคลายความวิตกกังวล ให้กับประชาชนในการเข้ารับฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 เพื่อลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของผู้ติดเชื้อ ลดจำนวนผู้ป่วย เพื่อให้เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศไทยได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
15 พ.ค. 64 ทิพยประกันภัย เพิ่มสิทธิประกันแพ้วัคซีนเป็น 2,000,000 สิทธิ
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชาชนให้ความมั่นใจและสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ “TIPห่วงไทย สู้ภัยโควิด” อย่างล้นหลาม ทำให้จำนวนสิทธิในโครงการ 1,000,000 สิทธิ เต็มอย่างรวดเร็ว ก่อนถึง 31 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลายความกังวลและเสริมความมั่นใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน บริษัทฯ จึงได้ ขยายเพิ่มจำนวนสิทธิ ในการลงทะเบียน รับความคุ้มครอง ฟรี ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 กับโครงการดังกล่าวเพิ่มให้อีก 1,000,000 สิทธิ รวมตลอดโครงการ 2,000,000 สิทธิ สามารถลงทะเบียนรับสิทธิในโครงการ “TIPห่วงไทย สู้ภัยโควิด” ได้ 1 ท่านต่อ 1 สิทธิ์ ผ่านช่องทาง www.Tipinsure.com ถึง 31 พฤษภาคม 2564 นี้
ข้อมูลอ้างอิง
1.สัมภาษณ์ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
2. https://www.dhipaya.co.th/home
3. สัมภาษณ์ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter