ชัวร์ก่อนแชร์ : สารก่อมะเร็งในข้าวสาร จริงหรือ ?

6 พฤษภาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที

บนสังคมออนไลน์แชร์ “ข้าวที่ไม่มีมอดเพราะใช้สารเคมีอบ เป็นสารก่อมะเร็งและทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หากไม่พบมอดในข้าวสารควรซาวข้าวมากกว่า 2 ครั้ง” ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า “จริงเพียงบางส่วน”

บทสรุป : จริงบางส่วน และ ไม่ควรแชร์ต่อ
• มีการใช้สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนรมข้าวเพื่อกำจัดมอดจริง แต่สารดังกล่าวไม่ใช่สารก่อมะเร็ง และมีการควบคุมปริมาณไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถกำจัดสารดังกล่าวได้ด้วยการซาวข้าวและหุงต้มผ่านความร้อน
• มีโอกาสที่โบรไมด์ไอออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำจริง เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ไอโอดีน แต่สำหรับบุคคลทั่วไปไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวล

สืบหาต้นตอ ข้อมูลที่ถูกแชร์
มีการแชร์ภาพอินโฟกราฟิกคำเตือนเรื่องสารก่อมะเร็งในข้าวสาร ซึ่ง มีใจความสำคัญว่า ข้าวสารที่ไม่มีมอดเพราะใช้สารเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์ไอออน (bromide ion) อบข้าว ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หากไม่พบมอดในข้าวสารควรซาวข้าวมากกว่า 2 ครั้ง ชุดข้อความนี้ถูกแชร์บน Facebook มาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการบันทึกภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อในแอปพลิเคชัน Line ทำให้มีผู้ส่งเรื่องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์


FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ  บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า มีการใช้สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนรมข้าวเพื่อกำจัดมอดจริง แต่หน่วยงาน IARC ขององค์การอนามัยโลก จัดให้เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีประกาศควบคุมปริมาณการใช้สารดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย

สาเหตุที่ต้องใช้สารเมทิลโบรไมด์รมข้าวสาร
รศ.ดร.ชนิพรรณ อธิบายว่า หลังจากการเก็บเกี่ยวและสีข้าวแล้ว ข้าวสารปริมาณมากจะถูกเก็บรวมกันในโรง ซึ่งอาจทำให้เกิดมอดหรือแมลงต่าง ๆ จึงมีการใช้สารเมทิลโบรไมด์ซึ่งเป็นของเหลวผสมกับน้ำในสัดส่วนที่มีการควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แล้วฉีดพ่นให้เป็นไอหรือละอองจากที่สูงเพื่อกำจัดจุดตั้งต้นของการเกิดมอดและแมลงต่าง ๆ การใช้สารเคมีบางชนิดไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงเสมอไป คล้ายกับการใช้ยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ภายใต้การกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้น หากผู้บริโภคไม่พบมอดในข้าวสารก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสารตกค้างหรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด

ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออน ไม่ใช่ “ผู้บริโภค” แต่เป็น “เกษตรกรผู้ใช้สารรมข้าว”
หน่วยงาน IARC ของ องค์การอนามัยโลก จัดให้สารเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) อยู่ใน Group 3 ซึ่งหมายถึง ไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นสารที่ก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพหากตกค้างในปริมาณที่สูงเกินค่าที่กำหนด โดยเมทิลโบรไมด์จะส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจมากกว่าระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ต้องระมัดระวังจึงไม่ใช่ผู้รับประทาน แต่เป็นผู้ใช้สารรมข้าว เนื่องจากเมทิลโบรไมด์ไม่มีกลิ่นที่ชัดเจนทำให้ผู้ที่ได้รับสารอาจไม่รู้สึกตัวและรับสารนี้ไปเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะส่งผลเสีย 2 รูปแบบคือ เกิดพิษเฉียบพลันเกี่ยวกับระบบหายใจ (มีอาการหายใจติดขัดภายใน 2-3 ชั่วโมง หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนภายใน 2-3 วัน) และเกิดพิษเรื้อรัง (ได้รับสารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อระบบสมองและประสาท) อย่างไรก็ตาม สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนไม่เกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง

กำจัดสารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนได้อย่างไร ?
แม้อาจมีความเสี่ยงต่ำสำหรับผู้บริโภค แต่ถ้าหากประสงค์จะกำจัดสารดังกล่าว ก็มีแนวทางที่ทำได้ ในกระบวนการหุงข้าวมีประมาณ 2 ขั้นตอนที่สามารถกำจัดสารสารเมทิลโบรไมด์ได้ ขั้นตอนแรกคือการซาวข้าว มีงานวิจัยยืนยันว่า การซาวข้าว 1 ครั้งสามารถกำจัดสารเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างได้ 50% แนะนำให้ซาวข้าวประมาณ 2 ครั้งโดยไม่นำน้ำซาวข้าวนั้นกลับมาใช้ประกอบอาหารอีก ขั้นตอนที่สอง คือการหุงต้มผ่านความร้อน สารดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นไอระเหยจึงไม่ควรกักเก็บไอระเหยนั้นไว้

กฎหมายไทยกำหนดปริมาณสูงสุดที่จะพบการตกค้างของสารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนในข้าวสาร
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ได้กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) หรือ ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่มีได้ในข้าวสารไว้ดังนี้

1. เมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) ณ จุดรมหลังจากระบายแก๊สออก ให้ข้าวสารสัมผัสกับอากาศไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง = 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ณ จุดจําหน่าย = 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
2. โบรไมด์ไอออน (bromide ion) จากการใช้เมทิลโบรไมด์และรวมถึง จากแหล่งอื่น ๆ แต่ไม่รวม โบรมีนที่ยึดด้วย พันธะโคเวเลนซ์ (covalently bound bromine) = 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ซึ่งค่าปริมาณดังกล่าว เป็นค่าที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่าไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค ข้าวสารที่มีปริมาณเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนตกค้างสูงเกินค่านี้จะถือว่าผิดกฏหมาย

โบรไมด์ไอออน กับ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จริงหรือ ?
ในประกาศที่แชร์กันระบุว่า โบรไมด์ไอออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ตัวที่จะจับกับไอโอดีนไม่ใช่โบรไมด์ไอออนอย่างเดียว สารที่อยู่ในธรรมชาติบางชนิด เช่น ผักกะหล่ำปลีถ้าไม่ผ่านความร้อนจะมีตัวที่ไปจับไอโอดีนเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ไอโอดีนมากกว่า เช่น ผู้ที่เป็นไฮโปไทรอยด์ และไฮเปอร์ไทรอยด์ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด

เรื่องที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับข้าวสารไม่ใช่เมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออน แต่เป็นเรื่องของโลหะหนัก เพราะโลหะหนักไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการซาวข้าว จึงต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจว่าไม่มีการตกค้าง 

บทสรุป : จริงบางส่วน และ ไม่ควรแชร์ต่อ
รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ ยืนยันว่า มีการใช้สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนรมข้าวเพื่อกำจัดมอดจริง แต่ใช้ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถกำจัดสารดังกล่าวได้ด้วยการซาวข้าวและหุงต้มผ่านความร้อน ที่สำคัญคือหน่วยงาน IARC ขององค์การอนามัยโลก จัดให้เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์ จึงไม่ควรแชร์คำเตือนเรื่องสารก่อมะเร็งในข้าวสารต่อ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

ข้อมูลอ้างอิง :
https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications
http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P387.PDF
http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=06050
https://www.facebook.com/100006098883332/posts/2825798970966705/

🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare


ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพร “ปีใหม่-วันเด็ก” ให้นายกฯ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ 2568 – วันเด็ก ให้ “นายกฯ พี่อิ๊งค์” มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง อยู่คู่ตึกไทยคู่ฟ้า บริหารประเทศไปนานๆ พร้อมฝากความคิดถึง “อดีตนายกฯ ทักษิณ”

16 บอสดิไอคอน แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.

16 บอส ดิไอคอนกรุ๊ป แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.นี้ ขณะที่ “ทนายวิฑูรย์” เผย “บอสพอล-บอสกันต์” ดีใจ หลัง “แซม-มิน” ได้ปล่อยตัว ส่วนท่าทีทั้งคู่ดูสบายๆ ปกติ ล่าสุดมีรายงาน “บอสวิน” ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อยู่ระหว่างรอผล

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและการติดต่อรับศพนายลิม ที่แผนกนิติเวช รพ.วชิรพยาบาล