ชัวร์ก่อนแชร์ Motor Check : ยาห้ามใช้ก่อนขับรถ จริงหรือ ?

บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ว่า ยาบางชนิด ห้ามใช้ก่อนขับขี่รถยนต์ เพราะอาจทำให้เกิดการง่วงซึม และเป็นอันตรายในขณะขับรถได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?


🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มียาหลายชนิดไม่ควรกินถ้าจะต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร รวมถึงคนที่ทำงานอยู่บนที่สูง จะทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะง่วงซึมได้ มีทั้งง่วงมากและง่วงน้อย


ภาวะ “ง่วงซึม” ที่เกิดจากการกินยาเรียกว่า “ผลข้างเคียงจากยา” (side effect) ซึ่งรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ยาชนิดที่ 1 “ยาแก้ปวด” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาแก้ปวดทุกชนิดไม่ได้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง


ตัวอย่างยาแก้ปวดที่กินแล้วไม่มีภาวะง่วงซึม ได้แก่

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่ทางการแพทย์เรียกว่า “อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen)

2. ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs : non-steroidal antiinflammatory drugs) เป็นยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนก (Diclofenac)

มียาแก้ปวดบางชนิดที่กินแล้วไม่ควรขับรถ ได้แก่

1. ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาระงับปวด กลุ่มโอพิออยด์ (Opioids) ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ยาชนิดนี้จัดเป็นยาอันตรายและเป็นยาที่จ่ายได้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์สั่งการสมองและระบบประสาท

2. กาบาเพนทิน (Gabapentin) เป็นยารักษาอาการชัก ปลายประสาทอักเสบจากโรคงูสวัด และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) โดยตัวยาจะเข้าไปจับกับตัวรับที่อยู่ในสารสื่อประสาท ทำให้อาการชักค่อย ๆ ทุเลาลง ยานี้ต้องใช้ภายใต้คำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาชนิดที่ 2 “ยาคลายกล้ามเนื้อ” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant) ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง เพราะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง มี 3 ชนิดหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blocking Agents)จะออกฤทธิ์กับตัวรับอะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ไปกีดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ

2. ยาคลายกล้ามเนื้อสูตรผสม (Skeletal Muscle Relaxant Combinations) ซึ่งมีส่วนผสมของยาคลายกล้ามเนื้อและยาแก้ปวดรวมกันอยู่ในเม็ดเดียว ยาจะช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อลาย ทำให้กล้ามเนื้อที่หดคลายตัวลง มักใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดตัว หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

3. ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Skeletal Muscle Relaxants) เป็นยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทสมองและไขสันหลัง ซึ่งจะลดและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อจนเกิดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัวจากการรับสารสื่อประสาท

ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น สามารถช่วยลดปวดในระดับที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อ แต่ไม่สามารถลดปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้ โดยมากมักใช้ในอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรหยุดใช้ยาทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ

ยาชนิดที่ 3 “ยาคลายกังวล” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาคลายกังวล (Antianxiety Drugs) หรือยาคลายเครียด เป็นยาที่มีผลต่อระบบประสาท

ส่วนใหญ่ยาคลายกังวลใช้รักษาอาการวิตกกังวล ตื่นตระหนก การตอบสนองของร่างกายที่มากเกินไป หรือนอนไม่หลับจากโรควิตกกังวลต่าง ๆ โรคแพนิก (Panic Disorder) ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) หรือโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepine) โดยผู้ป่วยอาจรับยาร่วมกันหลายชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อสารสื่อประสาทอย่างยาต้านเศร้าในกลุ่ม SSRI หรือ SNRI และกลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการทางร่างกายจากความวิตกกังวล โดยไม่ได้ส่งผลต่อระบบประสาทหรือสารสื่อประสาท อย่างยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ (Beta-Blocker)

การใช้ยาคลายกังวลแต่ละกลุ่มอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่คล้ายกัน เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ยาชนิดที่ 4 “ยากล่อมประสาท” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง ได้แก่

1. ยานอนหลับ แพทย์จ่ายให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับจากความเครียด เป็นยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepine) ที่จัดเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะวิตกกังวล อาการชัก และโรคนอนไม่หลับ เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) และยาไทรอาโซแลม (Triazolam)

2. ยาต้านเศร้ากลุ่มไทรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants : TCAs) แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ อย่างโรคซึมเศร้า เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)

3. ยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ (Beta-Blockers) เป็นยาที่ใช้รักษา ควบคุมภาวะความดันเลือดสูง และโรคหัวใจ แต่บางครั้งแพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์เพื่อใช้เป็นยาคลายเครียด เพราะยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งบรรเทาอาการทางร่างกายที่เกิดจากความเครียด เช่น หัวใจเต้นเร็ว เสียงสั่น ตัวสั่น และเหงื่อออก เช่น ยาอะทีโนลอล (Atenolol) ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) และยาไบโซโพรลอล (Bisoprolol)

ยา 3 กลุ่มนี้สามารถใช้เป็นยาคลายเครียดและให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน แต่กลไกการออกฤทธิ์ วิธีใช้ และข้อจำกัดของยานั้นแตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้ยาใดยาหนึ่งเพื่อทดแทนยาอีกชนิดได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

สิ่งสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อหรือหายาคลายเครียดมาใช้เอง ทั้งจากการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์และการขอยาจากผู้ป่วยคนอื่น

ยาชนิดที่ 5 “ยาแก้เวียนศีรษะ” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาแก้เวียนศีรษะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงนอน ง่วงซึม น้ำหนักตัวมากขึ้น คลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย

ชื่อสามัญของยาแก้เวียนศีรษะ คือ ฟลูนาริซีน (flunarizine) มีชื่อทางการค้าที่หลากหลาย เช่น Sibelium, Fludan, Fluricin, Poli-flunarin, Liberal, Simoyiam, Sobelin, Vanid, Vertilium เป็นต้น

ข้อบ่งใช้ยาเหล่านี้คือรักษาอาการวิงเวียน (vertigo) และป้องกันไมเกรน ตัวยาดังกล่าวสามารถเข้าไปในสมองและออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดในสมอง และปรับระดับสารสื่อประสาทบางชนิดในสมองทำให้ป้องกันไมเกรนและลดอาการวิงเวียนศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาชนิดที่ 6 “ยาแก้เมารถ” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

มีคนจำนวนมากเวลาเดินทางไปไหนมาไหน (ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ) เคยมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ที่เรียกอาการเหล่านี้ว่า “เมาจากการเคลื่อนไหว” (motion sickness) ซึ่งสามารถเกิดกับการโดยสารยานพาหนะได้ทุกประเภท

อาการเมาจากการเคลื่อนไหวไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ในบางคนมีปัจจัยเสี่ยงอาจทำให้มีอาการได้มากกว่าผู้อื่น ได้แก่ เด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี ผู้หญิงตั้งครรภ์ ใช้ยาคุมกำเนิดและกำลังมีประจำเดือน มีประวัติเป็นไมเกรนหรือเป็นโรคพาร์กินสัน มีสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติเมาจากการเคลื่อนไหว

วิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดอาการก็คือ “กินยาป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว” หรือ “ยาแก้เมารถ” แบ่งตามการออกฤทธิ์ มี 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มยาแก้แพ้ หรือกลุ่มยาต้านฮิสทามีน (antihistamine) จะออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับฮิสทามีนและต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงซึม ได้แก่ ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ยาไซคลิซีน (Cyclizine) ยาเมคลิซีน (Meclizine)

2. กลุ่มยาต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน ได้แก่ สโคโพลามีน (Scopolamine) ยาไดเฟนิดอล (Diphenidol)

ยา “ป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว” มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการง่วงซึมทั้งหมด

โดยทั่วไปคนขับรถมักจะไม่มีอาการเมาจากการเคลื่อนไหว แต่คนที่มีอาการเมาจากการเคลื่อนไหวก็จะไม่ขับรถอยู่แล้ว

มียากลุ่มอื่น ๆ ที่ห้ามใช้ก่อนขับรถเช่นกัน ได้แก่ ยาสูตรผสมแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ ยาสูตรผสมแก้ไข้ แก้หวัด เพราะมีการใส่ยาแก้แพ้ด้วย

นอกจากนี้ ยาแก้ไอ และยาชนิดอื่น ๆ ที่เคยกินแล้วมีอาการง่วง ปัจจุบันก็ไม่ควรกินก่อนขับรถเช่นกัน เพราะสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ

ดังนั้น ก่อนใช้ยาทุกครั้ง จะต้องอ่านฉลากยา (เอกสารกำกับยา) อย่างละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้ยาอย่างปลอดภัยกับตนเอง และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับผู้อื่นด้วย

สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ Motor Check : ยาห้ามใช้ก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

กระบะชนต้นไม้

สังเวย 7 ศพ กระบะหักหลบรถรับ-ส่งนักเรียน พุ่งชนต้นไม้

รถกระบะเสียหลักจะชนรถตู้รับ-ส่งนักเรียน คนขับตัดสินใจหักหลบ ทำให้รถพุ่งชนต้นไม้ เสียชีวิต 7 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4 คน

สลด! รถทัวร์พาผู้โดยสารกลับจากเที่ยวเบตง ชนต้นไม้ ดับ 8 ราย

รถทัวร์พาผู้โดยสารกลับจากเที่ยว อ.เบตง จ.ยะลา เสียหลักไถลลงร่องกลางถนนชนต้นไม้บนถนนสาย 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เบื้องต้นเสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก

ตักบาตรปีใหม่

ปชช.ร่วมตักบาตรวันปีใหม่ 2568 เพื่อความเป็นสิริมงคล

ประชาชนร่วมกิจกรรมตักบาตร​ รับปีใหม่ 2568 เนืองแน่น​ “สุดาวรรณ” เผยตัวเลขสวดมนต์ข้ามปี กว่า 12 ล้านคน พร้อมเชิญชวนสักการะพระเขี้ยวแก้ว ถึง 14 ก.พ.นี้

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยไทยตอนบน อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาฯ กทม.อากาศเย็นในตอนเช้า

กรมอุตุฯ เผยประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาฯ ส่วนภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า กรุงเทพฯ-ปริมณฑล อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาฯ

เมืองพัทยาเอาจริง เร่งจัดการผู้ลักลอบจุดพลุชายหาด

เมืองพัทยาสั่งแล้ว เร่งจัดการผู้ลักลอบจุดพลุบนชายหาด หลังเกิดเหตุพลุล้ม วิ่งไประเบิดใส่เด็กบาดเจ็บทั่วร่าง ในคืนเคานท์ดาวน์

SET ปิดตลาดซื้อขายวันแรกปี 68 ร่วงลง 20.36 จุด

ดัชนี SET วันแรกของการซื้อขายปี 2568 ปิดที่ 1,379.85 จุด ปรับตัวลดลง 20.36 จุด หรือ 1.45% มูลค่าการซื้อขาย 36,852.83 ล้านบาท ตลาดกังวลนโยบายการค้าระหว่างประเทศ-นโยบายภาษี

สั่งตรวจสอบถนนจุดเกิดเหตุรถทัวร์คว่ำ-กระบะชนต้นไม้

ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ฯ สั่งตรวจสอบถนนจุดเกิดเหตุรถทัวร์พลิกคว่ำและกระบะหักหลบรถตู้รับส่งนักเรียนชนต้นไม้ หลังพบเป็นถนนตัดใหม่ การก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์