“ไอกรน” โรคติดต่อที่อาจรุนแรงในผู้ป่วยบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็ก เป็นแล้วจะต้องรักษาอย่างไร ป้องกันด้วยวิธีใดได้บ้าง ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ้าตัวท่าน หรือลูกหลาน มีอาการไอ ไอนาน มีอาเจียนหลังไอ อาจจะต้องไปพบแพทย์ตรวจว่าเป็นไอกรนหรือไม่
ตรวจแล้วถ้าไม่ใช่ไอกรน เป็นโรคอื่นหรือไม่ ที่ทำให้ไอมากและไอนาน
ถ้าเป็นไอกรนจริง มียารักษา เพราะการรักษาง่ายมาก กินยา 5 วันก็หายแล้ว
การกินยารักษาไอกรน นอกจากทำให้ตัวเราเองอาการดีขึ้นแล้ว ยังลดโอกาสการแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้ด้วย
สมมุติมีประวัติสัมผัสโรค เช่น มีเด็กในบ้านป่วย แพทย์ยืนยันว่าเป็นโรคไอกรนแน่นอน และคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันเริ่มมีอาการไข้คล้ายไข้หวัด ไอ มีน้ำมูก ควรจะต้องไปตรวจเพื่อจะได้รู้ว่าติดไอกรนด้วยหรือไม่
แนวทางการรักษาไอกรน
การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะทำให้หายจากโรคได้เร็ว ยับยั้งการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
เนื่องจากโรคไอกรน (Whooping Cough) หรือโรคไอร้อยวัน (pertussis or whooping cough or 100-day cough) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียสามารถใช้ได้ และมียากลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) ได้แก่ อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น
ยากลุ่มแมคโครไลด์ตัวที่นิยมใช้ก็คือ อะซิโทรมัยซิน ยาตัวนี้หาได้ไม่ยากเลย เมื่อใดมีอาการและไปพบแพทย์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไอกรน ก็จะได้รับยาอะซิโทรมัยซินมากิน 5 วันเท่านั้น
กรณีที่มีอาการไอแล้วไม่ไปพบแพทย์ ปล่อยให้มีอาการไอนาน 1-2 เดือน อาการก็จะดีขึ้นได้ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นก่อน
ป่วย “ไอกรน” สามารถกินยาแก้ไอ ได้หรือไม่ ?
การกิน “ยาแก้ไอ” เป็นเพียงบรรเทาอาการไอเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุไอกรนได้
ถ้าจะรักษาไอกรน จะต้องกินยาปฏิชีวนะ “อะซิโทรมัยซิน” กำจัดเชื้อไอกรนออกจากร่างกาย
การดื่มน้ำ การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือกินยาแก้ไอ เรียกว่า เป็นการรักษาแบบประคับประคอง อาจจะทำให้อาการไอดีขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยกำจัดเชื้อให้หายไป
ก่อนอื่น จะต้องเข้าใจว่า “ไอกรน รักษาหายขาด แต่เป็นซ้ำได้” เพราะภูมิคุ้มกันร่างกายที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ตลอดชีวิต
การฉีดวัคซีนไอกรนก็ไม่ได้ป้องกันตลอดชีวิต ถึงแม้จะฉีดวัคซีนไอกรนช่วงวัยเด็ก 5 เข็ม หลังจากนั้นจะต้องฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
เด็กที่เข้าสู่วัยรุ่น อายุ 11-12 ปี จะต้องฉีดวัคซีนไอกรนซ้ำ 1 ครั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคไอกรน และฉีดทุก 10 ปี
กรณีเพศหญิง ฉีดวัคซีนไอกรนทุกการตั้งครรภ์ ช่วงสัปดาห์ที่ 27-36 เพื่อเป็นการปกป้องทารกจากโรคไอกรนในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการคลอด
โรคไอกรน “ป้องกันได้”
“ไอกรน” เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถป้องกันได้ ดังต่อไปนี้
1. ฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนในเด็กแรกเกิดตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป สามารถลดการติดเชื้อแบคทีเรียไอกรนได้ แต่ถ้าลดการติดเชื้อไม่ได้สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
2. การแยกผู้ป่วยโรคไอกรนอย่างเหมาะสม เช่น ถ้ารู้ว่าคนนี้ป่วยเป็นโรคไอกรน กินยาปฏิชีวนะ 5 วันก็หาย ในช่วง 5 วันนี้จะต้องแยกจากผู้อื่น หรือถ้าจำเป็นจะต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง หลังจาก 5 วันไปแล้วผู้ป่วยโรคไอกรนก็จะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ
สมมุติว่ามีคนหนึ่งในบ้านป่วยเป็นโรคไอกรน คนรอบตัวที่สัมผัสผู้ป่วยถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคไอกรน
ดังนั้น แพทย์จะให้ยาป้องกันกลุ่มเสี่ยงสูงก่อนที่จะเกิดอาการ และยาที่ใช้ป้องกันก็คือยาตัวเดียวกับที่ใช้รักษานั่นเอง ใช้ระยะเวลาเท่ากัน ก็คือ 5 วัน
ยาป้องกันไอกรนใช้ต่อเมื่อคนนั้นสัมผัสผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยและไม่มีความเสี่ยงสูงก็ไม่จำเป็นต้องกินยา
ไม่ควรซื้อยามากินเพื่อป้องกันโรคไอกรน ?
เมื่อได้รับข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ว่ามี “ไอกรน” ระบาด ก็ยังไม่จำเป็นต้องไปซื้อยาปฏิชีวนะมากินเพื่อป้องกันโรค สิ่งสำคัญก็คือ ควรให้แพทย์ตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค และเป็นผู้สั่งจ่ายยาจะดีกว่าไปหาซื้อยามากินเอง เช่น
1. ป่วยเป็นไอกรนจริงหรือไม่
2. ป่วยรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
3. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง
สาเหตุที่ไม่แนะนำให้ซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง เนื่องจาก
1. ยังไม่รู้ว่าเป็นโรคไอกรนจริงหรือไม่
2. การใช้ยาปฏิชีวนะสุ่มสี่สุ่มห้าอาจทำให้ร่างกายมีเชื้อดื้อยาอยู่ในตัวได้ เพราะถ้าป่วยเป็นโรคจริง ๆ เชื้อโรคก็จะเป็นเชื้อดื้อยา ทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น
การซื้อยามากินเอง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าโรคที่เป็นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน มีภาวะแทรกซ้อนหรือยัง เพราะถ้าโรคที่เป็นรุนแรงยาที่กินก็อาจจะรักษาไม่หาย จะทำให้ระยะเวลาการรักษาที่ถูกต้องยาวนานออกไป ไม่ส่งผลดีต่อผู้ป่วย
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ป้องกันและรักษาโรคไอกรน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter