ควรเริ่มตัดแว่นเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาเมื่อไหร่ และสัญญาณใดที่เป็นตัวบ่งบอกว่าควรตัดแว่นใหม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
แว่นตาเป็นอุปกรณ์แก้ปัญหาสายตาผิดปกติอย่างหนึ่ง
สายตาผิดปกติมีหลายอย่าง เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง รวมถึงสายตายาวตามวัย (คนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป)
“หน่วยการวัดค่าสายตา” คืออะไร ?
หน่วยการวัดค่าสายตา เรียกว่า ไดออปเตอร์ (Diopter หรือ D.)
ค่าความสามารถในการมองเห็น วัดจากกำลังของกระจกตาและเลนส์ตารวมกัน
ค่าสายตา 1 ไดออปเตอร์ คือ ความสามารถของเลนส์แว่นตา ที่จะโฟกัสภาพที่ระยะ 1 เมตร แต่มักเรียกจุดทศนิยมเป็นตัวเลข เช่น 1.00 ไดออปเตอร์ ก็จะเรียกสายตาสั้น “100” เพื่อการสื่อสารสำหรับประชาชนทั่วไป
ดังนั้น ถ้ามีภาวะสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น 100 แปลว่า วัตถุที่อยู่ห่างเกิน 1 เมตร จะมองไม่ชัด แต่การใส่แว่นตาจะช่วยให้สามารถกลับมามองเห็นภาพในระยะไกลมากกว่า 1 เมตรได้ชัดอีกครั้งหนึ่ง
รู้ได้อย่างไรว่าควรตัดแว่นแก้ปัญหาสายตา ?
สังเกตง่าย ๆ คือ ภาพที่มองเห็นไม่ชัด เป็นลักษณะเหมือนคนถ่ายภาพไม่ชัด หรือภาพไม่โฟกัส
ถ้าการมองภาพที่ไม่ชัดอยู่ในขนาดที่ยังพอรับได้ หมายความว่าไม่กระทบกับการเรียนหนังสือ การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ก็อาจยังไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตา
ถ้าเมื่อไหร่ที่ภาวะตามัวมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่ต้องแก้ปัญหาสายตามัวจากภาวะสายตาผิดปกติ
สามารถทดสอบสายตามัวจากภาวะสายตาผิดปกติได้ ด้วยการทดลองหยีตาหรือทำตาเล็ก ๆ จะพบว่าการมองเห็นภาพดีขึ้น นี่คือลักษณะเฉพาะของสายตามัวที่เกิดจากภาวะสายตาผิดปกติที่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นตา
การใส่แว่นตาสามารถช่วยชะลออาการ หรือทำให้สายตาแย่งลง หรือไม่ ?
การใส่แว่น หรือไม่ใส่แว่น ในคนที่สายตาผิดปกติ ไม่ได้ช่วยชะลอหรือทำให้ภาวะสายตาผิดปกตินั้นเป็นมากขึ้น
การใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในการแก้ปัญหาสายตา เป็นการแก้เพื่อให้มองเห็นชัดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น
กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ถ้ามีภาวะสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง โดยเฉพาะค่าสายตานั้นมีขนาดค่อนข้างมาก มีผลกระทบต่อพัฒนาการสมองที่เกี่ยวกับการมองเห็น จำเป็นต้องใส่แว่น เพื่อป้องกันภาวะสายตาขี้เกียจ ที่จะกลายเป็นความพิการถาวรของการมองเห็นไปตลอดชีวิต
สำหรับผู้ใหญ่ หรือเด็กที่อายุมากกว่า 13 ปี การใส่แว่นตาหรือไม่ใส่ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเท่ากับปัจจัยอื่น ๆ
ควรตรวจวัดค่าสายตา เมื่อไหร่ ?
โดยทั่วไป ระยะเวลา 1 ปี ค่าสายตามักจะมีการเปลี่ยนแปลง
1. ครบ 1 ปี ควรตรวจเช็กสุขภาพตาและวัดค่าสายตา
2. หลังจากใส่แว่นตาสักระยหนึ่ง การมองเห็นเริ่มไม่ชัด แสดงว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเร็วกว่าปกติ และ/หรือ มีโรคสายตาบางอย่างซ้อนขึ้นมา เช่น กระจกตาโป่ง กระจกตาย้วย หรือเริ่มมีโรคต้อกระจก ก็จะทำให้เกิดภาวะสายตาเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเวลาที่ควร
คำแนะนำ “การตรวจวัดค่าสายตา” และการตัดแว่นตา
กรณีมีปัญหาเรื่องสายตาครั้งแรก มีคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาทั้งระบบก่อนว่ามีปัญหาเรื่องโรคตาอื่นหรือไม่ นอกจากเรื่องสายตาสั้น ถ้ามีปัญหาเฉพาะสายตาสั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นตา
2. กรณีเคยใช้แว่นสายตาแล้ว และจำเป็นต้องเปลี่ยนแว่นใหม่ ก็สามารถไปที่ร้านตัดแว่นตาพบกับนักทัศนมาตร (Optometrist) ที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจวัดสายตา เพื่อทดลองดูก่อนว่าถ้าเปลี่ยนเบอร์แว่นสายตาให้ตรงกับค่าสายตาใหม่แล้ว การมองเห็นชัดเจนดีหรือไม่ ถ้าการมองเห็นชัดเจนดีก็สามารถเปลี่ยนแว่นตามรอบระยะเวลาที่สมควร ประมาณ 1-2 ปีต่อครั้งได้
3. ถ้าการทดลองแว่นใหม่แล้ว การมองเห็นไม่ชัด และ/หรือ มองเห็นไม่ดี ก็แสดงว่าอาจจำเป็นต้องไปพบจักษุแพทย์ เพื่อดูว่าภาวะตามัวที่เกิดมากขึ้น เกิดจากค่าสายตาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเดียว หรือมีโรคอื่น ๆ ของดวงตาร่วมด้วย
การมองเห็นภาพไม่ชัดเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอ หากกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรตรวจวัดค่าสายตาและแก้ไขปัญหา
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สัญญาณที่ควรตัดแว่น
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter