บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เตือนให้ระวังเชื้อราในตู้เย็น โดยบอกว่า 98% กินเชื้อราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ควรใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์เช็ดตู้เย็นสัปดาห์ละครั้ง และวางวาซาบิไว้ ช่วยชะลอการโตของราในตู้เย็นได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.อรอุมา เพียซ้าย ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กรรมการสมาคมสารพิษจากเชื้อราแห่งประเทศไทย
ในตู้เย็นสามารถพบเชื้อราได้ ข้อมูลนี้เป็นความจริง และมีราหลายชนิดที่สามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิต่ำ โดยปัจจัยที่ทำให้ “เชื้อราเจริญเติบโต” ได้ในตู้เย็น ดังนี้
1. ความชื้น
2. อาหารที่เน่าเสีย
3. สภาพแวดล้อม
4. อุณหภูมิ
ในคลิปที่แชร์กัน บอกว่า 98% กินเชื้อรากันโดยไม่รู้ตัว จริงหรือ ?
“98%” เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ถ้าในบ้านที่มีการรักษาความสะอาดสุขอนามัยภายในตู้เย็นดี ตัวเลขก็อาจจะไม่สูงมากถึงขนาดนี้
เรื่องนี้มีวิธีการป้องกัน หรือยับยั้งไม่ให้เกิดการปนเปื้อนภายในตู้เย็นได้
เชื้อราที่พบบ่อย ๆ ในตู้เย็น หรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นเชื้อรากลุ่มแอสเพอร์จิลลัส (Aspergillus) เพนิซิลเลียม (Penicillium) ฟูซาเรียม (Fusarium) ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีรายงานว่าก่อโรคในคน สัตว์ และโรคพืชบางชนิด ก่อให้เกิดการเน่าเสียในอาหาร การเสื่อมสภาพของวัสดุและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้เป็นกลุ่มของราที่สร้างสปอร์ฟุ้งกระจาย ไรโซปัส (Rhizopus) ที่ชอบขึ้นขนมปัง และอาหารที่มีน้ำตาลมาก ๆ
เชื้อราจากอาหารที่เก็บในตู้เย็น
บรรดาอาหารที่เก็บในตู้เย็น เช่น กุ้งแห้ง พริกไทย ขนมหวาน ข้าวโพดต้ม มีเชื้อราปนเปื้อนจากอาหารที่ซื้อมาอยู่แล้ว และ/หรือ ได้รับการปนเปื้อนจากเชื้อราที่อยู่ในตู้เย็นที่ไม่ได้ทำความสะอาด
พบว่าแต่ละครอบครัวมักจะแช่อาหารชนิดต่าง ๆ ปะปนกันอยู่ในตู้เย็น จากการซื้อสิ่งของต่าง ๆ มาจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็มักจะนำอาหารเข้าตู้เย็นทันที
กรณีไม่ได้เก็บอาหารในภาชนะปิดสนิท หรือไม่ได้ล้างทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ออกก่อนนำอาหารแช่ตู้เย็น ก็เป็นการนำเชื้อราเข้าไปบ่มอยู่ในตู้เย็น เนื่องจากตู้เย็นไม่ได้ทำให้เชื้อราตาย แต่เป็นเพียงชะลอการเจริญเติบโตเท่านั้น
อุณหภูมิช่องน้ำแข็ง ไม่ทำให้เชื้อราตาย จริงหรือ ?
“ช่องน้ำแข็ง ไม่ทำให้เชื้อราตาย” เป็นความจริง แต่เฉพาะเชื้อราบางชนิดเท่านั้นที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพอุณหภูมิต่ำ 2 องศาเซลเซียส ตัวอย่างเช่น กลุ่มแอสเพอร์จิลลัส เพนิซิลเลียม คลาโดสปอเรียม (Cladosporium) และ ฟูซาเรียม
“แอลกอฮอล์” ยับยั้งแบคทีเรียและไวรัส แต่ “โซเดียมไฮโปคลอไรท์” ฆ่าเชื้อรา ?
แอลกอฮอล์ (70%) มีประสิทธิภาพยับยั้งแบคทีเรียและไวรัสได้ดี แต่เรื่องฆ่าเชื้อราอาจจะมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับโซเดียมไฮโพคลอไรต์ (Sodium hypochlorite, NaOCl) หรือคลอรีนน้ำ 10%
การฆ่าเชื้อในตู้เย็นด้วยสารฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอรท์) ด้วยการนำมาเจือจางด้วยสูตร ดังนี้ สารฟอกขาว 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน
ก่อนใช้สารฟอกขาวแนะนำให้สวมถุงมือยางทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันการระคายเคือง และใช้ผ้าสะอาดชุบสารฟอกขาวเช็ดบริเวณด้านในของตู้เย็น โดยให้น้ำยาฆ่าเชื้อสัมผัสผนังตู้เย็นอย่างน้อย 1 นาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อรา จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดและเปิดตู้เย็นระบายอากาศ ให้ตู้เย็นแห้งก่อนนำกลับมาใช้งาน
การล้างทำความสะอาดตู้เย็น ควรทำบริเวณพื้นที่โล่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพราะสารโซเดียมไฮโพคลอไรต์กลิ่นค่อนข้างฉุน แต่เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วเปิดตู้เย็นทิ้งไว้ให้แห้งและกลิ่นระเหยหมดแล้วก็สามารถนำตู้เย็นกลับมาใช้ใหม่ได้
วิธีการใช้สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโพคลอไรต์) อาจจะมีความยุ่งยากเล็กน้อย แต่มีประสิทธิภาพการใช้ดีกว่าแอลกอฮอล์
ในคลิปที่แชร์กัน แนะนำให้วาง “วาซาบิ” ไว้ในตู้เย็น
บาซาบิ (wasabi) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eutrema japonicum หรือ Wasabia japonica
ในรากวาซาบิ มีสารออกฤทธิ์ชื่อว่า อัลลิล ไอโซไทโอไซยาเนต (allyl Isothiocyanate) ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง พบว่าจะไปทำลายโครงสร้างของเซลล์ เยื่อหุ้มของเซลล์แบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้ไม่สามารถเจริญหรือสร้างส่วนขยายพันธุ์ได้
สำหรับการใช้วาซาบิ ถึงแม้จะมีงานวิจัยว่ายับยั้งจุลินทรีย์บางชนิดได้ แต่ในระยะเวลาการออกฤทธิ์ของสารระเหยก็ยังไม่มีการรายงานว่าจะยับยั้งเชื้อราได้ในระยะเวลายาวนานแค่ไหน ซึ่งประสิทธิภาพของวาซาบิในการไปยับยั้งจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและชนิดของวาซาบิ ปริมาณของสารระเหยที่ออกฤทธิ์ รวมถึงฤทธิ์ของเชื้อราที่มีปนเปื้อนและสภาพแวดล้อมภายในตู้เย็น ซึ่งของแต่ละบ้านก็อาจจะมีความแตกต่างกัน แนะนำให้ใช้การฆ่าเชื้อด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ ดีกว่า เพราะการใช้วาซาบิเพียงอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมเชื้อราได้ทุกชนิด
การวางวาซาบิไว้ในตู้เย็นก็จะมีสารระเหยออกมาจากตัววาซาบิ แต่เมื่อสารระเหยนั้นระเหยออกมาหมดแล้ว วาซาบิก็เป็นอาหารชนิดหนึ่งของเชื้อราที่อยู่ในตู้เย็นเหมือนกัน
“การป้องกัน” ดีที่สุดคือไม่นำ “เชื้อรา” เข้าตู้เย็น ?
ควรป้องกันก่อนที่จะมีเชื้อราในตู้เย็น สามารถทำได้ ดังนี้
1. ผักและผลไม้ที่ซื้อจากตลาด ล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง แล้วจึงนำเก็บในวัสดุปิดมิดชิด
2. เนื้อสัตว์ (ทุกชนิด) ล้างให้สะอาดก่อนเก็บในกล่องปิดมิดชิด
3. อาหารปรุงสุก เก็บในถุงหรือภาชนะมีฝาปิดมิดชิด
4. อาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น เน่าเสีย และ/หรือ มีลักษณะผิดแปลกไป ต้องนำออกจากตู้เย็นทันที
5. เช็ดและทำความสะอาดตู้เย็นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
บริโภคอย่างเข้าใจคุณค่า จัดหาและจัดเก็บอย่างเหมาะสม
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : เตือนระวังเชื้อราในตู้เย็น จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter