ชัวร์ก่อนแชร์: พบดาว 7 ดวงมีนวัตกรรมเอเลี่ยน Dyson Sphere จริงหรือ?

16 กรกฎาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อในต่างประเทศ เมื่อมีรายงานว่า กลุ่มนักดาราศาสตร์ในโครงการ Project Hephaistos รายงานผลการสำรวจทางวารสารดาราศาสตร์ Monthly Notices of the Royal Astronomical Society ถึงความเป็นไปได้ของการพบดาวฤกษ์ 7 ดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่ถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับโครงสร้างสะสมพลังงานขนาดใหญ่ที่รู้จักในชื่อ Dyson Sphere ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาโดยสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก


บทสรุป :

1.Project Hephaistos พบดาวฤกษ์ 7 ดวงที่เชื่อว่าอาจเป็นหลักฐานการมีอยู่ของ Dyson Sphere
2.แต่มีนักวิทยาศาตร์ศึกษาดาวฤกษ์ 7 ดวง และพบว่าน่าจะเป็น Hot Dust-Obscured Galaxy มากกว่า
3.เมื่อปี 2014 มีการศึกษาการหรี่แสงของดาว Tabby’s Star ซึ่งเคยเชื่อว่าอาจเป็น Dyson Sphere เช่นกัน
4.แต่การศึกษาเพิ่มเติมพบว่าสิ่งที่ทำให้ดาว Tabby’s Star หรี่แสงน่าจะมาจากการถูกบังโดยฝุ่นอวกาศมากกว่า

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :


การค้นหา Dyson Sphere ของการแบ่งอารยธรรมตามแนวคิด Kardashev Scale

Kardashev Scale คือระดับวัดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจากความสามารถด้านการใช้พลังงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ

type I สามารถใช้พลังงานทั้งหมดจากดาวเคราะห์
type II สามารถใช้พลังงานทั้งหมดจากดาวฤกษ์
type III สามารถใช้พลังงานทั้งหมดจากกาแล็กซี

นิโคไล คาดาเชฟ นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซีย เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Kardashev Scale เมื่อปี 1964

นิโคไล คาดาเชฟ มีความเชื่อว่า เนื่องจากอารยธรรมของโลกมนุษย์มีอายุที่สั้นมากเมื่อเทียบกับอายุของเอกภพ จึงน่าจะมีอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเกิดขึ้นมาก่อนมนุษย์ และสิ่งวัดความก้าวหน้าทางอารยธรรมก็คือก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจากความสามารถด้านการใช้พลังงาน

มีการประเมินว่า ปัจจุบันมนุษยชาติมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการใช้พลังงานในระดับ 0.7

Dyson Sphere

Dyson Sphere คือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ออกแบบเพื่อห่อหุ้มดาวฤกษ์ สำหรับการสะสมพลังงานจากดาวฤกษ์ทั้งดวง นำเสนอโดย ฟรีแมน ไดสัน นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษเมื่อปี 1960

ฟรีแมน ไดสัน มองว่า การสำรวจอวกาศจำเป็นต้องใช้พลังงานมากกว่าที่ดาวเคราะห์ทั้งดวงจะให้ได้ ดังนั้นการดึงเอาพลังงานจากดาวฤกษ์มาโดยตรง จะทำให้ได้รับพลังงานมากกว่าการรอรับพลังงานจากแสงที่ส่องมายังดาวเคราะห์

มีความเชื่อว่า การค้นพบ Dyson Sphere คือหลักฐานการมีอยู่ของอารยธรรมที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระดับ type II ตามการจัดอันดับของ Kardashev Scale

ฟรีแมน ไดสัน ระบุว่าดาวฤกษ์ที่ถูก Dyson Sphere ห่อหุ้มจะถูกกักเก็บพลังงานแสงเกือบทั้งหมด มีเพียงรังสีฟาร์ อินฟราเรด (Far Infrared Radiation) เท่านั้นที่หลงเหลือ ดังนั้นการตรวจสอบระดับรังสีฟาร์ อินฟราเรดของดาวฤกษ์ อาจเป็นสิ่งยืนยันการมีอยู่ของ Dyson Sphere รวมถึงสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระดับ type II เช่นกัน

Project Hephaistos

Project Hephaistos ถูกตั้งขึ้นเพื่อการค้นหาหลักฐานการมีอยู่ของนวัตกรรมของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก แทนการหาสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่ทำมาในอดีด

เดือนพฤษภาคม 2024 นักดาราศาสตร์ของ Project Hephaistos ได้ศึกษาดวงดาวจากแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง ได้แก่ข้อมูลดาวเทียม Gaia ขององค์การอวกาศยุโรป กล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE ขององค์การนาซา และแผนที่อวกาศของโครงการ 2MASS ที่แสดงวัตถุท้องฟ้ากว่า 300 ล้านดวง

ทีมวิจัยได้กำหนดระยะทางในการสำรวจที่ 300 พาร์เซก (1 พาร์เซกเท่ากับ 3.26 ปีแสง หรือ 30.9 ล้านล้านกิโลเมตร) โดยมีดวงดาวที่อยู่ในขอบเขตการสำรวจประมาณ 5 ล้านดวง

เมื่อมีการตรวจสอบการแผ่รังสีฟาร์ อินฟราเรด รวมกับปัจจัยอื่น ๆ แล้ว ทีมวิจัยพบว่ามีดวงดาว 7 ดวงที่มีการแผ่รังสีฟาร์ อินฟราเรดตามทฤษฎีการมีอยู่ของ Dyson Sphere ของ ฟรีแมน ไดสัน

ดาวทั้ง 7 ดวงมีสถานะเป็นดาวแคระแดง ดาวฤกษ์ขนาดเล็กและมีอุณหภูมิต่ำมากเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ทั่วไป

ข้อมูลดังกล่าว ทำให้สื่อหลายสำนักในต่างประเทศรายงานถึงความเป็นไปได้ที่ Dyson Sphere อาจจะมีอยู่จริง เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่สร้าง Dyson Sphere ขึ้นมา

แม้ว่าทีมวิจัยของ Project Hephaistos จะระบุในผลสรุปงานวิจัยว่า ดาวแคระแดงทั้ง 7 เป็นเพียงตัวเลือกที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีความสัมพันธ์กับ Dyson Sphere จึงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์กับ Dyson Sphere ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นต่อไป

Hot Dust-Obscured Galaxy (Hot DOG)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2024 กลุ่มนักดาราศาสตร์ 3 รายที่ศึกษาดาวแคระแดงทั้ง 7 ดวงที่ Project Hephaistos ทำการสำรวจ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ทางเว็บไซต์ arXiv

ผลวิจัยพบว่า ดาวแคระแดง 3 จาก 7 ดวงที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของ Dyson Sphere มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นแค่ผลจากการแผ่รังสีฟาร์ อินฟราเรดจาก Quasar ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Hot Dust-Obscured Galaxy (Hot DOG) ซึ่งอยู่บริเวณใจกลางของกาแล็กซีชนิด Active Galactic Nucleus

ในใจกลางของ Hot Dust-Obscured Galaxy จะมีหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Hole) ที่ปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดจำนวนมหาศาล ในอัตราส่วนที่มากกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกนับ 1,000 เท่า ทำให้เป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่ส่องสว่างที่สุดในเอกภาพ แต่เนื่องจาก Hot Dust-Obscured Galaxy ห้อมล้อมไปด้วยก๊าซและฝุ่นจำนวนมาก แสงจาก Hot Dust-Obscured Galaxy จึงถูกบดบังเป็นส่วนใหญ่

ทีมวิจัยยังพบว่าดาวแคระแดงอีก 4 ดวงที่เหลือ ก็น่าจะเป็น Hot Dust-Obscured Galaxy เช่นเดียวกัน

Tabby’s Star

เมื่อปี 2014 มีโครงการตรวจสอบดาวฤกษ์ที่มีชื่อว่า KIC 8462852 หรือ Tabby’s Star ดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 50% อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 450 พาร์เซก

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของดาว Tabby’s Star คือมีช่วงเวลาที่ความสว่างของดาวจะหรี่แสงลงประมาณ 22% นำไปสู่การตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการถูกบังแสงด้วย Dyson Sphere นั่นเอง

แต่กระนั้น การตรวจสอบในภายหลังพบว่า สิ่งที่ทำให้ดาว Tabby’s Star หรี่แสง น่าจะเกิดจากฝุ่นอวกาศ

ทาเบตตา โบยาเจียน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ของดาว Tabby’s Star และเป็นที่มาของชื่อดาวดวงนี้ อธิบายว่า หากดาว Tabby’s Star ถูกบดบังโดยวัตถุทึบแสง แสงสีฟ้าและแสงสีแดงจะถูกบังทั้งหมด แต่ในช่วงที่ดาว Tabby’s Star หรี่แสงลง พบว่าแสงสีฟ้าถูกบดบังมากกว่าแสงที่แดง จึงเชื่อได้ว่าดาว Tabby’s Star ถูกบดบังด้วยวัตถุที่ไม่ทึบแสงเช่นฝุ่นอวกาศ ไม่ใช่วัตถุทึบแสงเช่นดาวเคราะห์หรือ Dyson Sphere แต่อย่างใด

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.livescience.com/space/extraterrestrial-life/7-potential-alien-megastructures-spotted-in-our-galaxy-are-not-what-they-seem
https://www.sciencealert.com/mysterious-dyson-spheres-could-have-another-explanation-scientists-say
https://bigthink.com/technology-innovation/alien-megastructure-debunked-astronomers-finally-explain-the-weirdest-star-in-the-universe/
https://en.wikipedia.org/wiki/Dyson_sphere
https://en.wikipedia.org/wiki/Hot,_dust-obscured_galaxy
https://en.wikipedia.org/wiki/Tabby%27s_Star

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

Satellite images show wake of destruction of wildfires burning across California

เปิดปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าแอลเอไหม้ลามหนัก

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในเทศมณฑลลอสแอนเจลิสหรือแอลเอ (LA) ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐไหม้ลามเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นวิกฤตไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

รู้ตัวคนไทยพลัดตกตึกสูงฝั่งปอยเปต พบไม่ได้ถูกจับโยนลงมา

รู้ตัวคนไทยพลัดตกตึกสูง 18 ชั้น ฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา เบื้องต้นพบไม่ได้ถูกจับโยนลงมา และอาคารดังกล่าวถูกระบุเป็นฐานบัญชาการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีคนไทยถูกหลอกไปทำงานที่นี่จำนวนมาก

Palisades Fire

สหรัฐสั่งอพยพกว่าแสนคนหนีไฟป่า 6 จุดในแคลิฟอร์เนีย

ลอสแอนเจลิส 9 ม.ค.- สหรัฐสั่งอพยพประชาชนมากกว่า 100,000 คน เนื่องจากจำนวนไฟป่าที่โหมไหม้ในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 6 จุดแล้ว เพราะกระแสลมแรงเทียบเท่าเฮอริเคนและสภาพอากาศแล้ง เจ้าหน้าที่เผยว่า ในจำนวนไฟป่าทั้ง 6 จุด มีอยู่ 4 จุดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้เลย ไฟป่าจุดแรก คือ พาลิเซดส์ไฟร์ (Palisades Fire) เกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 7 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นใกล้แปซิฟิก พาลิเซดส์ ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยทางตะวันตกเฉียงเหนือของเทศมณฑล ต้นเพลิงมาจากไฟไหม้พุ่มไม้ที่โหมไหม้จนเกินควบคุมเพราะกระแสลมแรง ต้องอพยพคนอย่างน้อย 30,000 คน ไฟป่าจุดที่ 2 คือ อีตันไฟร์ (Eton Fire) เกิดขึ้นในเย็นวันเดียวกันที่หุบเขาอีตันแคนยอน เผาไหม้พื้นที่ขยายวงกว้างมากพอ ๆ กับไฟป่าจุดแรก ไฟป่าจุดที่ 3 คือ เฮิร์ตส์ไฟร์ (Hurst Fire) เกิดขึ้นกลางดึกวันเดียวกันในย่านซิลมาร์ของนครลอสแอนเจลิส จากนั้นในเช้าวันที่ 8 มกราคมเกิดไฟป่าจุดที่ 4 คือ วูดลีไฟร์ […]

ข่าวแนะนำ

นั่งเก้าอี้นายกฯ

ทำเนียบคึกคัก! “น้องพอร์ช” นั่งเก้าอี้นายกฯ คนแรก

ทำเนียบคึกคัก! วันเด็กแห่งชาติ “น้องพอร์ช” วัย 3 ขวบ มาจากเมืองกาญจน์ ตื่นเที่ยงคืน เกาะรั้วทำเนียบตี 3 นั่งเก้าอี้นายกฯ คนแรกสมใจ

ทั่วไทยอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิลด 2 – 5 องศาฯ

กรมอุตุฯ เผยทั่วไทยอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิลด 2 – 5 องศาเซลเซียส “ยอดดอย-ยอดภู” หนาวจัด ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง