ชัวร์ก่อนแชร์: สารสกัดจาก “ถั่วเน่า” ถอนพิษวัคซีนโควิดได้ จริงหรือ?

04 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการเผยแพร่สูตรล้างพิษจากโปรตีนหนามในวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วยตัวยาที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากถั่วเน่า ขมิ้นชัน และ สับปะรด และยังอ้างถึงสรรพคุณการรักษาโรคลองโควิดอีกด้วย


บทสรุป :

  1. เป็นข้ออ้างผิด ๆ ที่เผยแพร่โดยแพทย์ที่มีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
  2. ยังไม่มีการทดลองในสิ่งมีชีวิตว่าสารสกัดจากถั่วเน่า ขมิ้นชัน และ สับปะรด ช่วยกำจัดโปรตีนจากร่างกายได้
  3. แพทย์ผู้อ้างสูตรถอนพิษ เป็นทีมงานของบริษัทยาที่ค้ากำไรจากการขายอาหารเสริมที่อ้างผิด ๆ ว่ากำจัดโปรตีนหนามจากร่างกายได้
  4. ข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า mRNA และโปรตีนหนามตกค้างในร่างกายไม่นานและไม่เป็นอันตราย

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

ผู้อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่สูตรล้างพิษโปรตีนหนามในวัคซีนแบบผิด ๆ ได้แก่ ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ผู้มีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และเป็นเจ้าของสูตร McCullough Protocol ที่อ้างว่าการใช้ยารักษาโรคมาลาเรียและยาฆ่าพยาธิอย่าง Hydroxychloroquine และ Ivermectin สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้มาแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง


ในช่วงปี 2023 ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ ได้เผยแพร่แนวคิดเรื่องภัยโปรตีนหนามจากวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของ Nattokinase เอนไซม์ที่สกัดจากถั่วเน่า สามารถล้างพิษที่เกิดจากโปรตีนหนามของวัคซีนและรักษาอาการลองโควิดได้

นอกจากนี้ เขายังเผยแพร่สูตรอาหารเสริมล้างพิษจากวัคซีนหรือ Base Spike Detoxification ซึ่งประกอบไปด้วย Nattokinase (เอนไซม์สกัดจากถั่วเน่า) Curcumin (สารสกัดจากขมิ้นชัน) และ Bromelain (เอนไซม์สกัดจากสับปะรด)

คุณสมบัติของ Nattokinase

งานทดลองพบว่า Nattokinase มีคุณสมบัติด้านการละลายลิ่มเลือดและประโยชน์ด้านการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือผู้ที่กำลังรักษาตัวด้วยยาละลายลิ่มเลือด ไม่แนะนำให้บริโภคสารประกอบ Nattokinase เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดไหลไม่หยุดได้

MINOLTA DIGITAL CAMERA

บิดเบือนงานวิจัยของผู้อื่น

ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ อ้างงานวิจัยของ ทานิคาวะ และคณะ ที่ตีพิมพ์ทางวารสาร Molecules เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่พบว่า Nattokinase สามารถทำลายโปรตีนหนาม นำมาซึ่งสมมติฐานว่า Nattokinase สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวเกิดจากการทดลองกับเซลล์ในหลอดทดลอง โดยยังไม่มีการทดลองในสิ่งมีชีวิต จึงยังไม่อาจยืนยันได้ว่าจะได้ผลอย่างไรเมื่อใช้กับมนุษย์ นอกจากนี้ ในเนื้อหาของงานวิจัยไม่ได้บอกถึงคุณสมบัติด้านการล้างพิษจากวัคซีนอีกด้วย

บิดเบือนบทความของตนเอง

ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ อ้างว่าสูตรอาหารเสริมล้างพิษจากวัคซีน (Base Spike Detoxification) ที่ตนคิดค้นขึ้น นำมาจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่ตนเองและทีมงานได้ศึกษาและตีพิมพ์บทความทางวารสาร Journal of American Physicians and Surgeons เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี Journal of American Physicians and Surgeons ซึ่งเผยแพร่โดยสมาคม Association of American Physicians and Surgeons เป็นวารสารที่ขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากตัวสมาคมดำเนินงานโดยยึดหลักการสนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมเป็นที่ตั้ง ส่วนตัววารสารก็มีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการอ้างว่าโรคเอดส์ไม่ได้เกิดจากไวรัส HIV การฉีดวัคซีนเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคออทิสติก การทำแท้งทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น

ในบทความ ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ อ้างถึงคุณสมบัติด้านการกำจัดโปรตีนหนามของ Nattokinase, Curcumin และ Bromelain แต่ผลวิจัยทั้งหมดนำมาจากการทดลองในหลอดทดลองและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ และยังไม่มีการทดลองในสิ่งมีชีวิต ซึ่ง ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์และทีมวิจัยเองก็ยังย้ำในบทความว่า ประโยชน์ด้านการรักษายังพิสูจน์ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีการทดลองในมนุษย์

แต่กระนั้น ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ ก็ยังให้ความเห็นผ่านสื่ออย่างไม่มีหลักฐานว่า สารสกัดจากถั่วเน่า ขมิ้นชัน และสับปะรด สามารถล้างพิษโปรตีนหนามจากวัคซีนได้

ผลในหลอดทดลองไม่สามารถยืนยันผลที่จะเกิดกับสิ่งมีชีวิต

ดร.อิกอร์ โคเทอร์บาช รองผู้อำนวยการศูนย์ Center for Dietary Supplements Research ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ผลจากการวิจัยในหลอดทดลองไม่สามารถยืนยันผลการรักษาในมนุษย์ได้ มีสารเคมีจากพืชมากกมายที่ให้ผลการป้องกันการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้อย่างดีในหลอดทดลอง แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จกับการใช้ในสัตว์ทดลอง ดังนั้นโอกาสจะนำมาใช้เป็นยารักษาในมนุษย์โดยยังไม่ทดลองจึงมีความเป็นไปได้ที่น้อยมาก

ผลประโยชน์ทับซ้อนจากการขายอาหารเสริมจอมปลอม

มีข้อความบนโลกออนไลน์ที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือที่มีต่อสูตรล้างพิษโปรตีนหนามของ ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ โดยพยายามอ้างว่า ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ บอกสูตรยาที่เป็นประโยชน์สาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต่างจากบริษัทยาที่ค้ากำไรจากการแนะนำให้คนฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบโดย Factcheck.org พบว่า ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัทขายยา The Wellness Company ซึ่งหนึ่งในสินค้าขายดีของบริษัทได้แก่ Spike Support อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบสารสกัดจากถั่วเน่า ซึ่งทางเว็บไซต์อ้างอย่างผิด ๆ ว่า เป็นอาหารเสริมที่มีคุณสมบัติด้านการล้างพิษโปรตีนหนามอีกด้วย

อาหารเสริมไม่สามารถรักษาโรคไม่ได้

ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา การที่อาหารเสริมไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) คือสาเหตุทำให้มีการผลิตอาหารเสริมที่อ้างสรรพคุณเกินจริงจำนวนมากในท้องตลาด

อย่างไรก็ดี กฎหมายของสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาว่าอาหารเสริมมีคุณสมบัติด้านการรักษาโรค ดังนั้นการอ้างว่าอาหารเสริมที่มีสารสกัดจากถั่วเน่า มีคุณสมบัติล้างพิษโปรตีนหนามหรือรักษาลองโควิด จึงเข้าข่ายการโฆษณายาผิดประเภท

mRNA และโปรตีนหนามตกค้างในร่างกายไม่นาน

เดวิด อาร์ วอลต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โปรตีนและชีวโมเลกุล ยืนยันว่า การล้างพิษโปรตีนหนามจากวัคซีนเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะไม่ว่าโปรตีนหนามจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อไวรัส ร่างกายก็สามารถกำจัดโปรตีนหนามออกจากร่างกายในเวลาไม่กี่วัน มีแค่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังมีโปรตีนหนามตกค้างในร่างกายเป็นเวลานานหลังเกิดการสร้างภูมิต้านทานแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์ Vaccine Education Center โรงพยาบาล Children’s Hospital of Philadelphia ยืนยันว่า mRNA มีอายุที่สั้นมาก และจะถูกร่างกายทำลายในเวลาไม่กี่วัน ส่งผลให้การสร้างโปรตีนหนามสิ้นสุดลง

ข้อมูลจากสมาคม Infectious Disease Society of America ยืนยันว่า โปรตีนหนามจากวัคซีนจะอยู่ในร่างกายไม่กี่สัปดาห์ ก่อนจะถูกร่างกายทำลายไปเอง

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่โปรตีนหนามอยู่ในร่างกายขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตรวจสอบ

งานวิจัยของ โอกาตะ และคณะ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 13 รายที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดสแรก ส่วนใหญ่จะสามารถตรวจพบโปรตีนหนามในกระแสเลือดไม่เกิน 1 สัปดาห์

ส่วนงานวิจัยของ โรลต์เจน และคณะ พบว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถตรวจพบโปรตีนหนามในต่อมน้ำเหลืองหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 60 วัน ซึ่งเหตุผลที่พบโปรตีนหนามในต่อมน้ำเหลืองนานกว่าอวัยวะอื่น ๆ เนื่องจากในต่อมน้ำเหลืองเป็นที่อยู่ของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายนั่นเอง

ประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงจากโปรตีนหนาม

เดวิด อาร์ วอลต์ คือหนึ่งในทีมวิจัยที่รายงานความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างโปรตีนหนามและการป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA โดยตีพิมพ์งานวิจัยผ่านทางวารสาร Circulation เมื่อเดือนมกราคม 2023

ทีมวิจัยแยกกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน และกลุ่มคนสุขภาพแข็งแรงหลังฉีดวัคซีน โดยพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ มีปริมาณโปรตีนหนามอยู่ในกระแสเลือดสูงกว่าคนสุขภาพดี ทีมวิจัยซึ่งตั้งสมมติฐานถึงความเป็นไปได้ว่า โปรตีนหนามอาจเป็นตัวการทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยในผู้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในเพศชายและผู้ที่มีอายุน้อย

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยให้ความเป็นว่า ผลทดสอบยังจำเป็นต้องศึกษาความสัมพันธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งผลวิจัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำแนะนำเรื่องประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาลองโควิด

ส่วนการอ้างว่า การใช้อาหารเสริมจากถั่วเน่า ขมิ้นชัน และสับปะรด จะช่วยรักษาอาการลองโควิดก็ไม่เป็นความจริง เพราะนอกจากจะไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบวิธีรักษาอาการลองโควิดอีกด้วย

ลองโควิดคืออาการป่วยเรื้อรังหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจเกิดจากการหลงเหลือของไวรัสในร่างกาย ซึ่งวิธีรักษาผู้ป่วยลองโควิดในปัจจุบันยังเป็นการรักษาตามอาการ

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า วิธีการป้องกันลองโควิดที่ดีที่สุดคือการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากหรือฉีดวัคซีน

มีงานวิจัยที่พบว่า การใช้ยาต้านไวรัสชนิด Paxlovid หรือการใช้ยารักษาโรคเบาหวานชนิด Metformin ระหว่างติดเชื้อโควิด-19 อาจช่วยป้องกันการป่วยเป็นลองโควิดได้

เนื่องจากการวิจัยวิธีรักษาลองโควิดต้องใช้เวลานาน กลายเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้ไม่หวังดี แนะนำวิธีการรักษาที่ยังไม่ได้รับการยืนยันประสิทธิผล เพื่อหาประโยชน์จากผู้คนที่ทนทรมานจากอาการป่วยและต้องการวิธีรักษาลองโควิดอย่างเร่งด่วน

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.factcheck.org/2023/09/scicheck-posts-push-unproven-spike-protein-detoxification-regimen/
https://healthfeedback.org/claimreview/no-scientific-evidence-for-claim-nattokinase-treat-long-covid-detox-covid19-vaccines/
https://healthfeedback.org/claimreview/peter-mccullough-makes-multiple-false-misleading-claims-covid19-vaccine-safety-efficacy-podcast/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

มติกฤษฎีกา “กิตติรัตน์” คุณสมบัติไม่ผ่านนั่งประธานบอร์ด ธปท.

คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ มีมติไม่ผ่านคุณสมบัติ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย

เครื่องบินโดยสาร อาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ตกในคาซัคสถาน

เครื่องบินโดยสารเอ็มบราเออร์ ของสายการบินอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ที่บินจากอาเซอร์ไบจาน ไปยังประเทศรัสเซีย เกิดอุบัติเหตุตกที่บริเวณใกล้กับเมืองอัคเทา ในคาซัคสถาน โดยมีผู้โดยสาร 62 คน และลูกเรือ 5 คน บนเครื่อง เจ้าหน้าที่คาซัคสถานกล่าวว่า มีผู้รอดชีวิต 28 ราย