บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปบอกว่า ห้ามใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอด เพราะมีสารอันตรายต่าง ๆ จากกระดาษ เช่น สารไดออกซินจากคลอรีนที่ใช้ในการฟอกกระดาษ เรื่องนี้จริงหรือไม่
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่องนี้ต้องดูก่อนว่า “กระดาษทิชชู” (tissue paper) มีส่วนประกอบอะไรบ้าง และกระดาษทิชชูก็มีหลายระดับ หลายเกรด
“ทิชชู” นอกจากมีเส้นใยแล้วยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่เป็นเคมีใส่ลงไป เพื่อให้ฟังก์ชันการทำงานดีขึ้น เช่น อาจจะทำให้เส้นใยมีความแข็งแรงขึ้นก็ได้
ขณะเดียวกันอาจมีสารปนเปื้อน (เช่น มาจากเส้นใยที่รีไซเคิล) โดยไม่ได้ตั้งใจด้วย
ดังนั้น ควรทำความรู้จัก “กระดาษทิชชู”แต่ละชนิดก่อน ว่าเป็นเกรดไหน และอนุญาตให้สัมผัสอาหาร (Food Grade) ได้หรือไม่
กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู มีการใช้โซดาไฟ หรือคลอรีน เป็นสารฟอกขาว จริงไหม ?
การฟอกคือการกำจัดลิกนิน (Lignin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เส้นใยเกาะติดกันออกไป ทำให้กระดาษมีความขาวมากขึ้น
สารประกอบกลุ่มคลอรีน เข้าใจว่ามีการหาสารกลุ่มอื่นทดแทน เพื่อลดโอกาสเกิดสารปนเปื้อนโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ขึ้นอยู่กับเกรดกระดาษด้วย
คำว่า “เกรด” ก็คือ ระดับคุณภาพ ระดับความแข็งแรงของกระดาษ ระดับการเจือปน
ที่แชร์กันบอกว่า สารฟอกขาวในกระดาษทิชชู เมื่อทำปฏิกิริยากับไขมันหรือโปรตีนในอาหารจะเกิดการกัดกร่อน เมื่อกินเข้าไปจะทำลายเยื่อบุช่องปาก คอหอย ลงไปถึงกระเพาะ จริงไหม ?
การกัดกร่อนก็คือถ้าเกิดกระดาษอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นกลาง เช่น มีความเป็นกรดหรือความเป็นด่าง ดังนั้น ระดับ pH ในกระดาษ ไม่ได้สูงถึงขั้นที่จะทำให้เกิดการกัดกร่อนต่อเนื้อเยื่อโดยทั่วไป
ในกระบวนการผลิตมีการใช้พวกด่าง แต่ระหว่างทางมีการล้างเยื่อ การขึ้นแผ่นเยื่อ กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้ระดับความเป็นด่างลดลงไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะเกิดการกัดกร่อนถือว่าเป็นไปได้น้อยมากที่จะกัดกร่อนต่อเนื้อเยื่อ หรือว่าสัมผัสกับเนื้อเยื่อแล้วจะเกิดการกัดกร่อนเป็นไปได้น้อยมาก
สารคลอรีนที่นำมาฟอกขาวในทิชชู จะเกิดสารที่ชื่อว่าไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จริงไหม ?
ข้อนี้พูดถึงกรณีถ้าหากมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบก่อน โอกาสจะเกิดสารไดออกซิน (dioxins) ก็อาจจะมี แต่ว่าไดออกซินก็คือสารประกอบที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
ในกระบวนการทางเคมี นอกจากไดออกซิน ก็จะมีอีกตัวที่เรียกว่าฟิวแรน (furans) ในตระกูลนี้ยังมีสารเคมีย่อย ๆ อีกหลาย ๆ รายการที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน (ไม่ได้เป็นสารชนิดเดียว) สารกลุ่มนี้อาจจะเกิดขึ้นได้กรณีที่มีการเผาไหม้ในอุณหภูมิสูง แล้วมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ
สำคัญที่สุดคือการใช้กระดาษให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ?
ถ้าเลือกใช้กระดาษที่เหมาะสม ถูกประเภทการใช้งาน ก็จะมีความปลอดภัยสูงขึ้น
ถ้ากระดาษชนิดนั้น เป็นกระดาษที่ผลิตเพื่อการค้าสำหรับบรรจุอาหาร หรือสัมผัสอาหารได้ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ก็ถือได้ว่าปลอดภัย
กรณีกระดาษที่ผลิตออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะใช้สัมผัสอาหาร เช่น กระดาษชำระ แล้วผู้บริโภคนำไปใช้ซับน้ำมัน หรือนำไปใช้สัมผัสกับอาหาร โอกาสความไม่ปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นได้
อันตรายของการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอด แบบที่เขาแชร์กันนี้เป็นยังไง ?
ถ้าเป็นกระดาษชั้นคุณภาพที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการสัมผัสอาหาร ก็ไม่ควรใช้เลย แต่ชนิดของสารเคมีที่หลุดลอก อาจจะต้องพิสูจน์ทราบให้ชัดเจน อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่แจ้ง
การใช้สิ่งของต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จะมีความเหมาะสม และเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติม ชัวร์ก่อนแชร์ : อันตรายใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันของทอด จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter