มะเร็งรังไข่คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด และมีอาการแสดงอย่างไร
🎯 ตรวจสอบกับ ศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
“มะเร็งรังไข่” เป็น “เนื้องอก” ชนิดร้ายที่รังไข่
เนื้องอกรังไข่ แบ่งออกเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา เนื้องอกกึ่งดีกึ่งร้าย และเนื้อร้ายหรือมะเร็ง
มะเร็งรังไข่ ก็คือ รังไข่กลายเป็นเนื้องอกชนิดร้าย
เนื้องอกชนิดร้าย ?
เนื้องอกชนิดร้าย หมายความว่ามีความประพฤติแตกต่างไปจากเนื้อเยื่อปกติ หรือเนื้องอกธรรมดา 2 อย่างคือ ลุกลาม และแพร่กระจาย
สมมุติว่าต้นกำเนิดเป็นมะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดร้ายที่รังไข่ จะลุกลามออกนอกรังไข่ไปที่อวัยวะใกล้เคียง หรือจะแพร่กระจายไปที่ไหนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ต้นตออยู่ที่รังไข่ และแพร่กระจายไปที่ลำไส้ ไปที่ปอด และอื่น ๆ อย่างนี้เป็นต้น
สาเหตุของการเป็นมะเร็งรังไข่ ?
ต้นตอที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งรังไข่ วิทยาการกำลังหาคำตอบอยู่ แต่สิ่งที่พบก็คือมีสารพันธุกรรมของเซลล์ที่ผิดปกติ และความประพฤติที่เปลี่ยนไป เช่น แทนที่จะเป็นเนื้อเยื่อธรรมดา ไม่เติบโตไร้การควบคุม ก็เติบโตไร้การควบคุม และมีความประพฤติ 2 อย่าง คือลุกลาม และ แพร่กระจาย
สามารถประเมินได้จากปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
1. อายุที่มากขึ้น
2. ประวัติครอบครัว เช่น ญาติใกล้ชิด ญาติสายตรง เป็นมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งนรีเวช หรือมะเร็งชนิดอื่น
3. เจ้าตัวเป็นมะเร็งอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คนนั้นเองก็จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ที่เพิ่มขึ้น
ชนิดของมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่ แบ่งคร่าว ๆ ได้ 3 ชนิด
1. มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว
2. มะเร็งรังไข่ชนิดไม่ใช่เยื่อบุผิว แบ่งย่อยออกเป็น เจิมเซลล์ (germ cell) หรือเซลล์สืบพันธุ์ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
3. มะเร็งชนิดแปลกอื่น ๆ
สังเกตอาการอย่างไร
มะเร็งรังไข่ที่สังเกตอาการได้ ถ้าชัด ๆ ก็คือ 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 ท้องโต คลำก้อนได้ หรือมีอาการของการกดเบียดที่เกิดจากก้อนของรังไข่ เช่น กดเบียดกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้ปัสสาวะบ่อย
ประเด็นที่ 2 อาการที่เกิดจากมะเร็งรังไข่ลุกลามไป อยู่ที่ว่าลุกลามไปอวัยวะใด เช่น ถ้าไปที่ปอด ก็จะมีอาการไอมากผิดปกติ เหนื่อยง่าย
ถ้าเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง เป็นอาการรวม ๆ ของมะเร็งใดก็ได้ ทั้ง ๆ ที่กินอาหารได้มาก แต่ร่างกายผอมลง ซีดเซียว ไม่กระชุ่มกระชวย หรืออาจจะมีก้อนโหนกนูนตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย ก็คือต่อมน้ำเหลืองโต
ลดความเสี่ยงด้วยการดูแลสุขภาพ
ร่างกายคนมีความสามารถหลัก ๆ 2 อย่างคือ ซ่อมได้ และ กำจัดได้
1. ซ่อมได้ สมมุติมีเซลล์รังไข่ผ่าเหล่า ร่างกายสามารถซ่อมเซลล์เพี้ยน ๆ ทางพันธุกรรม ให้กลับคืนสู่เซลล์ปกติ กลุ่มนี้ก็จะไม่กลายเป็นเนื้องอก
2. กำจัดได้ สมมุติว่ามีเซลล์รังไข่เกิดการผ่าเหล่า การเปลี่ยนแปลงของเซลล์หรือเนื้อเยื่อรังไข่ เปลี่ยนมากในระดับที่ซ่อมไม่ได้แล้ว ร่างกายมีกลไกหรือทำหน้าที่ขจัดทิ้งออกไปจากร่างกายได้
เรื่องนี้เป็นเหตุผลโดยตรงว่า “อายุเป็นปัจจัยเสี่ยง” และพวกที่ซ่อมได้ กำจัดได้ อาจจะลดลงหรือเสื่อมไปบ้างแต่ถ้าเราดูแลสุขภาพให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็ช่วยได้
ต้องคอยสังเกตตัวเอง ไม่ละเลย ไปพบแพทย์ตรวจสุขภาพทางนรีเวชประจำปี หรือตรวจภายในประจำปี ถ้าพบตั้งแต่เริ่มต้นก็รักษาก่อนกัน กำจัดก่อน ก็จะไม่ลุกลาม ไม่แพร่กระจาย
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติม รายการชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : รู้จักและเข้าใจมะเร็งรังไข่
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter