โรคซึมเศร้า เป็นอย่างไร แบ่งได้เป็นกี่ระดับ ฟื้นฟูได้เองหรือไม่ และแบบไหนควรพบแพทย์
🎯 ตรวจสอบกับ ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คำว่า “ซึมเศร้า” มีได้ตั้งแต่ (1) มีอาการซึมเศร้า (2) เป็นภาวะซึมเศร้า ยังไม่เป็นโรค (3) เป็นโรคซึมเศร้า
อาการซึมเศร้า
เรื่อง “อาการซึมเศร้า” บางวันผิดหวัง เสียใจเรื่องอะไรก็มีอาการซึมเศร้าได้ แค่ 1-2 วันก็หาย มีเรื่องสบายใจเข้ามาก็ดีขึ้น
ภาวะซึมเศร้า
ส่วน “ภาวะซึมเศร้า” ก็อาจจะมีอาการหลาย ๆ อาการ เช่น ผิดหวังความรัก ตกงาน ก็อาจจะเป็นสักพักหนึ่งโดยมากเป็นหลังจากการปรับตัว
ภาวะซึมเศร้าจะดีขึ้นเองได้ มีคนให้คำปรึกษา มีคนพูดคุยอะไรก็ดีขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างมาก แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายค่อนข้างมาก
ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าก็ต้องให้การรักษาอย่างจริงจัง ได้รับการช่วยเหลือโดยบุคลากรที่มีอาชีพเฉพาะจะมีส่วนช่วยมาก
อาการแสดงออกเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า
ถ้าเป็นโรค… โดยทั่วไปมีอาการแทบทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็จะมีอาการหลัก ๆ ของโรคซึมเศร้า 7-8 อาการ
บรรดาอาการซึมเศร้าที่ปรากฏ เช่น ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย ไม่อยากทำอะไร เบื่อไปหมด เบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักตัวลดลงไป 5-6 กิโลกรัม กลางคืนก็นอนไม่หลับ สมาธิ ความจำแย่ลง คิดช้า ทำอะไรก็ช้า รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง บางวันลุกขึ้นก็ไม่มีแรงไปทำงาน ไม่มีสมาธิที่จะอ่านอะไรยาว ๆ รู้สึกผิดคิดอยากตาย คิดไม่อยากอยู่ เรื่องตัวเองเป็นภาระคนอื่น
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะต้องมีอาการประมาณนี้รวม ๆ กัน 5-6 อาการ นานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และเป็นแทบทุกวันถ้าเป็น 1-2 วันแล้วหายอย่างนี้ไม่เป็นโรค
คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ตื่นเช้ามาจะรู้สึกแย่ ตื่นเช้ามาเจอปัญหาอีกแล้ว สาย ๆ อาจจะดีขึ้น มีคนมาคุยก็ดีขึ้น ตอนบ่าย ๆ ก็เริ่มแย่ลงอีก
วันนี้ดีขึ้นหน่อยแต่ก็ยังเศร้า ๆ เบื่อ ๆ เรียกว่าเป็นแทบทุกวัน และอาการซึมเศร้า อาการเบื่อหน่ายเป็นแทบทั้งวัน ทั้ง 2 อาการนี้ บางวันก็หลับ บางวันก็ไม่หลับ แต่ส่วนใหญ่นอนไม่หลับติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่น่าปกติแล้ว
สาเหตุโรคซึมเศร้า
ถ้าเป็นโรคจริง ๆ ปัจจุบันนี้มองว่าหลัก ๆ เป็นมาจากด้านชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรม เป็นเรื่องของยีนหรือโครโมโซมที่ผิดปกติไป ทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางตัวน้อยกว่าปกติ หรือเรื่องฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป พวกนี้เป็นปัจจัยทางชีวภาพทำให้คนคนนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งถ้ามีเรื่องที่กดดันตอนอายุมาก ๆ ตอนเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าอีกคนหนึ่งที่ไม่มีปัญหาทางด้านพันธุกรรม
ความเสี่ยงอีกอย่างก็คือความเสี่ยงที่เกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก (พบบ่อยมาก) เช่น ตอนเด็กถูกทอดทิ้ง หรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ถูกทารุณกรรม ได้รับประสบการณ์ยากลำบาก ถูกทรมาน ถูกทุบตี เรื่องนี้ก็เสมือนเป็นแผลในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนทั้งในแง่ของจิตใจแล้วก็ปัจจัยทางด้านชีวภาพด้วย เมื่อโตขึ้นมาพบกับเรื่องกดดันก็ไปกระตุ้นตรงจุดนี้ ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป
โรคซึมเศร้าเป็นกรรมพันธุ์ ?
“โรคซึมเศร้า” ไม่ใช่โรคทางกรรมพันธุ์
เรื่องนี้มีผู้ป่วยหลายคนมาปรึกษาเหมือนกันว่า เป็นโรคซึมเศร้ามีลูกได้ไหม หรือพ่อเขาเป็นโรคซึมเศร้าเขาจะเป็นไหม
โรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในลูก แต่ไม่ได้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์
พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าในคนที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 2 เท่า
ความเสี่ยงอาจจะมากกว่าคนทั่วไป แต่ถ้าตอนที่ลูกโต มีการปรับตัวดี และมีความสามารถในการแก้ปัญหาก็อาจจะไม่เกิดโรคนี้ได้ ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคุณมีโอกาสเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่จัดว่าเป็นโรคทางกรรมพันธุ์
ปัจจุบัน มีการมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นมาจากทั้งของเดิม คือทุนเดิมตั้งแต่ก่อนเกิด ก็คือพ่อแม่ ช่วงที่อยู่ในครรภ์ ช่วงวัยเด็ก ได้รับผลกระทบจากอะไรบ้าง แล้วปัจจุบันมีอะไรมากระทบใจ หลาย ๆ ปัจจัยรวมกันกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าขึ้นมา จากการซักประวัติแล้วมองย้อนหลังกลับไปพบว่าส่วนใหญ่มี “ปม” มากพอสมควร
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : โรคซึมเศร้า – ลักษณะ อาการ ภาวะ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter