25 สิงหาคม 2566 – ตามที่มีการแชร์บทความเรื่อง “อันตรายในไอศกรีม” เตือนว่า ในไอศกรีมของโปรดของหลายคน หารู้ไม่ว่า มีสารสังเคราะห์จากสารเคมี ที่นำอันตรายต่อสุขภาพเราได้นั้น
บทสรุป : จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ ⚠️
สารแต่งกลิ่นถูกใช้ในการทำไอศกรีมในปริมาณที่น้อยมาก และยังอยู่ในปริมาณตามที่กฎหมายควบคุมอยู่ มีความปลอดภัยแต่สิ่งที่ต้องระวังในการรับประทานไอศกรีมเป็นอาหารที่ มีไขมันสูง น้ำตาลสูง เพราะฉะนั้นให้รับประทานในปริมาณที่พอดี
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับ ผศ.ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า “ไอศกรีมที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการใส่วัตถุเจือปนอาหารบางอย่างเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งหลายอย่างก็อาจจะเป็นสารเคมี
ในการผลิตระดับอุตสาหกรรมผู้ผลิตจะต้องขออนุญาตสูตร จากนั้น อย.จะพิจารณาว่าใช้ได้หรือไม่และมีการใช้เกินปริมาณที่กำหนดหรือไม่ ปริมาณที่กำหนดนั้นจะถูกกำหนดจากความปลอดภัยในการใช้สารนั้น ๆ เพราะฉะนั้นหากผู้ผลิตได้รับ อย. ก็ให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าอาหารนั้น ๆ มีความปลอดภัย”
Q : ผู้ผลิตนำไขมันที่มาจากโรงฆ่าสัตว์มาทำไอศกรีม จริงหรือ ?
A : ไอศกรีมส่วนมากทำจากครีม ครีมคือไขมันที่อยู่ในนม บางกรณีที่ผู้ผลิตอาจจะลดต้นทุน หากเป็นไอศกรีมราคาถูกหน่อย ผู้ผลิตก็จะใช้แหล่งไขมันอื่น ในบ้านเรานิยมใช้ไขมันปาล์มเติมลงไปเพื่อให้มีความมัน ส่วนไขมันจากโรงฆ่าสัตว์ที่นำมาใช้ ส่วนใหญ่จะนำมาแปรรูปเป็นวัตถุเจือปนอาหาร จะไม่ได้ใส่เป็นมันหมู หรือมันไก่ลงไปตามที่เราเข้าใจ
Q : สารแซ็กคาริน มีการพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ จริงหรือ ?
A : แซ็กคาริน (saccharin) หรือขัณฑสกร คือ สารให้ความหวานที่เป็นสารสังเคราะห์ เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ห้ามใช้ในประเทศไทย กฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้อยู่แล้ว
Q : ไดอิธิลกลูคอล (Diethyl Glucol) สารเคมีราคาถูกที่ใช้ในการตีไขมันให้กระจายแทนการใช้ไข่ สารชนิดนี้เป็นสารกันเยือกแข็งที่ใช้กันน้ำแข็งไม่ให้ละลายเร็ว และใช้ในน้ำยากัดสีด้วย จริงหรือ ?
A : ข้อความนี้ไม่เป็นความจริง ชื่อของสารเคมีที่ถูกต้อง คือ Diethylene Glycol เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหารเด็ดขาด เป็นสารป้องกันไม่ให้น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง (Antifreeze) และในผลิตภัณฑ์จำพวกไอศกรีมหรือหวานเย็น จะใช้สารที่มีชื่อว่า Polyethylene Glycol
Q : อัลดีไฮด์ – ซี71 (Aldehyde-C71) ใช้ทำกลิ่นเชอรี่ จริงหรือ ?
A : จริง ๆ แล้วสารที่ทำให้เป็นกลิ่นเชอรี่จริง ๆ ชื่อ Benzaldehyde เป็นสารเคมีที่มีในเชอรี่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
Q : ไปเปอร์โอรัล (Piperoral) ใช้แทนกลิ่นวานิลลา เป็นสารเคมีเดียวกับที่ใช้ผสมในยาฆ่าเหาและหมัด จริงหรือ ?
A : ชื่อสารเคมีตามที่แชร์มายังไม่ถูกต้อง จริง ๆ คือ Piperonal เป็นกลุ่มอัลดีไฮน์เหมือนกัน ให้กลิ่นวนิลลา สารพวกนี้มีการใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเช่นกัน
Q : อิธิลอะซีเตท (Ethyl acetate) ใช้สร้างกลิ่นรสสับปะรด จริงหรือ ?
A : จริง
Q : บิวธีรัลดีไฮด์(Butyraldehyde) ใช้สร้างกลิ่นรสถั่ว จริงหรือ ?
A : จริง
Q : แอนนิล อะซีเตท(Anyle acetate) สารนี้จะให้กลิ่นกล้วย และเป็นสารที่ใช้ทำลายล้างไขมัน จริงหรือ ?
A : ชื่อสารเคมีที่ถูกต้องคือ Amyl acetate เป็นสารให้กลิ่นกล้วย ส่วนที่แชร์ว่าทำลายล้างไขมันนั้นเป็นข้อมูลเกินจริง ปกติสารแต่งกลิ่นสามารถละลายไขมันได้อยแล้ว
Q : เบนซิล อะซีเตท(Benzyle acetate) เป็นสารที่ใช้สร้างกลิ่นและรสสตรอเบอร์รี่เป็นสารละลายไนเตรท ทำให้เกิดความอยากอาหาร จริงหรือ ?
A : ข้อมูลที่แชร์มาว่าเป็นสารที่ใช้สร้างกลิ่นและรสสตรอเบอร์รี่นั้นเป็นเรื่องจริง แต่ที่บอกว่าเป็นสารละลายไนเตรท ไม่เป็นความจริง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter