22 สิงหาคม 2566 – บนโซเชียลมีการแชร์เกี่ยวกับการดื่มชาเอาไว้มากมาย บ้างก็ว่าชาเขียวแช่เย็นอันตราย กรมอนามัยประกาศห้ามไม่ให้ดื่ม และถุงชาปล่อยพลาสติกพันล้านในน้ำชาอีกด้วย?! เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ พบคำตอบได้ที่ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST ร้อยเรียงเรื่องฮิต ติดอันดับจากชัวร์ก่อนแชร์
อันดับที่ 1 : ชามีกาเฟอีนมากกว่ากาแฟ จริงหรือ ?
มีการแชร์ว่า ชาร้อน 1 แก้ว มีกาเฟอีนมากกว่ากาแฟ
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : ผศ.ดร.ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
“ชาและกาแฟมีกาเฟอีนมากน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งชา 1 ถุง เทียบกาแฟที่ตักและชงประมาณ 2 ช้อนชาจะมีกาเฟอีนเต็มที่ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม”
อันดับที่ 2 : ชาใบหม่อน ลดความดัน ตาใสแจ๋ว จริงหรือ ?
มีการแชร์คำแนะนำ ให้กินชาใบหม่อน 3-5 ใบ ต้มนาน 5 นาที ลดความดัน ถ้าบีบมะนาว ยิ่งทำให้ตาใสแจ๋ว
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา รองคณบดี วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ คลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร
และ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
“ปัญหาเรื่องดวงตามีที่มาหลายปัจจัย การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยจะช่วยให้แก้ไขได้ตรงจุดกว่า ในเรื่องความดัน ไม่มีตำราว่าชาใบหม่อนช่วยลดได้”
อันดับที่ 3 : ชาใบมะกรูดแก้ความดันสูง จริงหรือ ?
มีการแชร์บทความว่าคนที่เป็นโรคความดันสูง ให้กินชาใบมะกรูด เห็นผลในสามวัน
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ กรรมการบริหารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
และ ภกญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
“การใช้สมุนไพรต้มน้ำกินแล้วเพื่อหวังลดความดันต้องใช้ความระมัดระวัง แม้จะมีการศึกษากับสัตว์ทดลองพบว่าใบมะกรูดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดความดันได้เล็กน้อย แต่ยังไม่เคยศึกษาด้านความปลอดภัยในคน
อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคความดันสูงสามารถหายได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา เริ่มจากต้องลดน้ำหนักเพื่อลดความดัน ลดอาหารเค็ม ออกกำลังกาย กินผักผลไม้ตามสมควร รวมทั้งงดเหล้า-บุหรี่
ภกญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ความเห็นตรงกันว่าใช้ใบมะกรูดกับสัตว์ทดลองสามารถคุมความดันได้ เป็นตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยที่ว่าพืชผักชนิดใดมีความเปรี้ยวจะสามารถสลายของเสียในเลือดได้
แต่หากจะใช้กับคนต้องมีการปรับสารสกัดในสมุนไพรให้เหมาะสม บางรายต้องใช้ควบคู่กับยาลดความดัน พร้อมย้ำว่าดื่มชาใบมะกรูดแล้วหายจากโรคความดันสูงไม่ได้ผลกับคนไข้ทุกราย เพราะคนไข้แต่ละรายจะมีภาวการณ์เจ็บป่วยไม่เหมือนกัน”
อันดับที่ 4 : ถุงชาปล่อยพลาสติกในในน้ำชา จริงหรือ ?
มีการแชร์งานวิจัยพบว่า เจอ “ไมโครพลาสติก” ออกมาจากถุงชาเป็นล้าน ๆ ชิ้น
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อ.ดร.สมโชค กิตติสกุลนาม อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทสรุป : จริง แชร์ได้ ✅
“มีงานวิจัยเรื่องนี้จริง แต่ใช้ถุงชาที่ทำจากพลาสติกมาทดลอง ไม่ใช่ถุงชากระดาษ และองค์การอนามัยโลกก็บอกว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การกินไมโครพลาสติกเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ถุงชา 1 ชิ้น มีการปล่อยพลาสติกลงในน้ำชาจริง แต่ก็มีปริมาณเพียง 16 ไมโครกรัมเท่านั้น ร่างกายสามารถขับถ่ายออกมาได้ไม่เป็นอันตราย”
อันดับที่ 5 : ชาเขียว “แช่เย็น” อันตราย จริงหรือ ?
มีการแชร์บทความเตือนว่า การดื่มชาเขียวแช่เย็นมีอันตราย ทำให้ไขมันในร่างกายก่อตัวและอุดตัน
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย
และ ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
“กรมอนามัยไม่ได้เขียนบทความเรื่องดังกล่าว ที่มีเขียนขึ้นมาจริงนั้นส่วนมากจะเป็นเรื่อง “การเตือนให้ระวังเรื่องน้ำตาลและไขมันในชาเขียว” และความจริงคนญี่ปุ่นก็ยังดื่มชาเขียวเย็นเป็นปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีการระบุว่าชาเขียวที่อาจลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง หรือโรคหัวใจ ไม่แนะนำให้กินชาพร้อมอาหารเนื่องจากจะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก
ด้าน ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การบอกว่าชาเขียวเย็นมีโทษ ไม่มีประโยชน์เท่าชาเขียวร้อนไม่เป็นความจริง จากการทดสอบเทชาเขียวเย็นลงในน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวแล้วจับตัวเป็นก้อน เพราะน้ำซุปเป็นไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ เมื่อถูกของเย็นจะจับตัวเป็นคราบ, ก้อนอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะชาเขียวอย่างเดียว แต่การที่น้ำซุปแข็งตัวเป็นเพียงการทดสอบ เพราะน้ำเย็นหรือชาเขียวเย็นไม่ได้มีผลทำให้ไขมันในร่างกายแข็งตัวแต่อย่างใด”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย : ชยานิษฐ์ ผ่องใส
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter