🎯 ตามที่มีการแชร์เตือนว่า “กะทิ” ตัวร้ายทำลายสุขภาพ ยิ่งกินมาก ยิ่งเสี่ยงไขมันสูง และอีกสารพัดโรค
📌 บทสรุป : ❌ ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ มีคำอธิบายเพิ่มเติม ❌
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
การกินกะทิอย่างเหมาะสมไม่ได้เป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเสมอไป
ผลเสียต่อสุขภาพมาจากการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงปริมาณมาก ๆ อาจจะทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้นได้
กะทิมีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวสูง แต่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีโมเลกุลปานกลางสัดส่วนที่สูงกว่า
👉 กินแกงกะทิอย่างไร ไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ?
ควรกินแกงกะทิไม่เกิน 1 มื้อต่อวัน และกินพร้อมกับข้าวชนิดอื่น ๆ รวมทั้งการทำแกงกะทิใส่เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำด้วย หรือเป็นแกงกะทิที่ใส่พืชผักจำนวนมาก เช่น แกงหยวกกล้วย หรือแกงขี้เหล็ก ปริมาณของผักที่มากจะช่วยให้ร่างกายได้ประโยชน์จากใยอาหาร รวมถึงสารสำคัญต่าง ๆ ที่มีในพืชผักด้วย
ระหว่างแกงกะทิกับอาหารทอด พบว่าการกินแกงกะทิอาจจะได้รับไขมันปริมาณน้อยกว่าอาหารทอด แต่ได้ประโยชน์เพิ่มมากกว่า เพราะในแกงกะทิมีเครื่องเทศด้วย
นั่นคือเมื่อไหร่ก็ตามที่กินแกงกะทิแล้วคิดว่ามีไขมันสูง ก็ควรกินอาหารชนิดอื่นที่มีปริมาณไขมันต่ำร่วมด้วย เช่น แกงจืด ผักนึ่ง แทนอาหารทอดและผัดที่ใช้น้ำมันมาก
👉 สัดส่วนไขมัน ระหว่าง “กะทิ” และ “น้ำมันมะพร้าว”
“กะทิ” มีปริมาณไขมันน้อยกว่าน้ำมันมะพร้าวร้อยละ 20-25 ขึ้นกับว่าเป็นหัวกะทิหรือไม่ใช่หัวกะทิ ซึ่งแตกต่างจากน้ำมันมะพร้าว ที่เป็นน้ำมันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
จากผลการวิจัยพบว่าไขมันส่วนหนึ่งในแกงกะทิไม่ได้มาจากกะทิอย่างเดียว แต่มาจากทั้งกะทิและเนื้อสัตว์ พบว่าในเมนูแกงกะทิมีไขมันที่ได้จากเนื้อสัตว์มากกว่ากะทิที่อยู่ในเมนูนั้น
บรรดาแกงต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบของกะทิ ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับการเลือกเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณไขมันต่ำ จะช่วยลดปริมาณไขมันได้ร้อยละ 30-50 เลยทีเดียว และขึ้นกับชนิดของแกงด้วย
ยกตัวอย่างเช่น “แกงไก่” แทนที่จะใส่ไก่ทั้งตัวหรือไก่ที่มีหนัง แต่เปลี่ยนเป็นเนื้ออกไก่ ก็จะช่วยให้ลดปริมาณไขมันลงไปได้ร้อยละ 50
👉 กินอย่างไร “กะทิ” ไม่เป็นตัวร้าย ?
ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่กินแกงกะทิปริมาณที่เหมาะสม และเลือกเนื้อสัตว์ไขมันน้อย จะทำให้การกินแกงกะทิเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ มีหลายครอบครัว กินอาหารคาวแล้วมักจะปิดท้ายด้วยขนมหวาน และ/หรือ ผลไม้ หรือทั้งขนมหวานและผลไม้ แต่ขนมหวานที่มีกะทิและน้ำตาล ควรกินพอประมาณ (ใช้ถ้วยขนาดเล็ก) และไม่ควรกินทุกมื้อ โดยบางมื้อควรกินผลไม้หลาย ๆ ชนิด (ที่มีรสหวานน้อย) แทนขนมหวาน
ความเข้าใจที่ถูกต้อง ช่วยให้กินอาหารอร่อยและสุขภาพดี
ตรวจสอบโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
สามารถรับชมคลิปรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : กะทิ เป็นตัวร้ายทำลายสุขภาพ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter