วิธีหลอก : ปลอมบัญชี หรือเพจเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)
อุบาย : ใช้บัญชี หรือเพจเฟซบุ๊กปลอม โดยมักจะแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มซื้อขายแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โพสต์ขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยอาศัยภาพสินค้า รีวิวจากช่องทางอื่นที่มีการซื้อขายจริง ร่วมกับโฆษณาอวดอ้างถึงข้อดีต่าง ๆ ของสินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจหยิบยกอุบาย “สินค้าใกล้หมดแล้ว” มาเร่งรัดให้เหยื่อรีบตัดสินใจสั่งซื้อ
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน Facebook
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมเป็นร้านค้าออนไลน์ แฝงตัวเข้ากลุ่ม โพสต์หลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) อ้างว่า ถูกและดี ใกล้หมดแล้วต้องรีบซื้อ ! ด้านโฆษกวอนประชาชน “อย่าเห็นแก่ของถูกแล้วรีบโอนเงิน” พร้อมแนบแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้ปลอดภัย
กรุงเทพฯ 28 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)
ฉวยโอกาสช่วงค่าไฟแพง สินค้าเป็นที่นิยม ปลอมเป็นร้านค้า หวังฉกเงินเหยื่อ
บช.สอท. ได้รับรายงานจาก กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่า ก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งความ ร้องทุกข์เกี่ยวกับการหลอกขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรืออุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ให้กับผู้ที่ต้องการลดค่าไฟฟ้าในรูปแบบที่พักอาศัย โดยมิจฉาชีพได้ฉวยโอกาสในช่วงที่สินค้ากำลังเป็นที่นิยม ใช้บัญชีเฟซบุ๊กปลอมแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มที่มีการซื้อขายแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มิจฉาชีพบางกลุ่มอาจใช้เพจเฟซบุ๊กปลอมแทน เนื่องด้วยรูปแบบเพจจะดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่า จากนั้นจะโพสต์ประกาศขายสินค้าดังกล่าว เป็นต้นว่า “ราคาจับต้องได้ แผงโมโน 455 วัตต์ มือ 2 ราคาแผง 2500฿ แผงไกล้จะหมดแล้ว สนใจทักแชทเลย” หรือ “ซื้อ 2 แถม 2 1,000W ฿1399” จะเห็นได้ชัดว่า มีราคาถูกกว่าราคาท้องตลาด ประกอบกับใช้อุบาย “สินค้าใกล้หมดแล้ว” เพื่อเร่งรัดเหยื่อให้รีบตัดสินใจสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังอาศัยภาพจากช่องทางอื่นที่มีการซื้อขายจริง มาโฆษณาอวดอ้างถึงข้อดีต่าง ๆ ของสินค้าดังกล่าวด้วย
โฆษก บช.สอท. วอนประชาชน “อย่าเห็นแก่ของถูกแล้วรีบโอนเงิน”
ด้านโฆษก บช.สอท. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอประชาชนพึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าเห็นแก่ของถูกแล้วรีบโอนเงิน โดยขอประนามการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงเร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และจะนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกราย สุดท้ายจึงขอฝากแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้ปลอดภัย ดังนี้
1. ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2. ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก ของถูก ต้องถูกอย่างมีเหตุผล”
3. ตรวจสอบบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ประกาศขายสินค้าเบื้องต้นว่า มีประวัติไม่ดีหรือไม่ มีความเคลื่อนไหวหรือไม่ มีเพื่อนมากน้อยเพียงใด หรือสร้างบัญชีมานานเท่าใด เป็นต้น
4. ระมัดระวังเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจเฟซบุ๊กจริง ควรจะมีผู้ติดตามสูง สร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านที่ชัดเจน และสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้
5. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊กว่า มีการเปลี่ยนชื่อ ขายสินค้าใดมาก่อนหรือไม่ และผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศ
6. ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลาย ๆ มุม นอกจากภาพที่ประกาศขาย อีกทั้งสอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้องว่า ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน หรือวิธีการใช้งาน เป็นต้น
7. ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร โดยจะต้องระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่า เป็นมิจฉาชีพ หรือบัญชีอวตารหรือไม่
8. ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงินว่า มีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น
9. เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ อาจขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่า ส่งสินค้าให้จริง
10. กรณีการจ่ายเงินปลายทาง ควรถ่ายคลิปวิดีโอการเปิดกล่องพัสดุว่า ตรงกับที่สั่งหรือไม่ สินค้าชำรุดหรือไม่
11. หากท่านไม่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ควรปฏิเสธ และห้ามชำระเงิน ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจให้สอบถามบุคคลภายในบ้านให้ชัดเจน
12. กดรายงานบัญชี หรือเพจเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter