22 มีนาคม 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ประเภทข่าวปลอม : ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
มีหลักฐานมากมายยืนยันว่าการเสียชีวิตส่วนเกินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่วัคซีนตามที่กล่าวอ้าง
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางพอดแคสต์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ เอ็ดเวิร์ด ดาวด์ เจ้าของหนังสือ Cause Unknown : The Epidemic of Sudden Deaths in 2021 and 2022 เปิดเผยว่า โรคการตายฉับพลันจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ Sudden adult death syndrome (SADS) เป็นอาการที่พบได้อย่างแพร่หลายนับตั้งแต่มีการรณรงค์วัคซีนโควิด-19 ในปี 2021 วัคซีนจึงเป็นสาเหตุทำให้อัตราการตายส่วนเกินในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์กับไวรัสโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงของการก่อโรคลดลงอย่างมาก
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ในเว็บไซต์ They Lied, People Died ที่เอ็ดเวิร์ด ดาวด์ใช้สำหรับโปรโมตหนังสือต่อต้านวัคซีนของตนเอง ได้แสดงกราฟข้อมูลการตายส่วนเกินของประชากรอายุ 25-44 ปีในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2021-2022 โดยระบุว่า ทุกครั้งที่พบการตายส่วนเกินมากกว่าปกติ จะเป็นช่วงที่ตรงกับการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนเข็มกระตุ้นเสมอ
อย่างไรก็ดี เมื่อนำกราฟดังกล่าวมาเทียบกับกราฟรายงานการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จากเว็บไซต์ Our World in Data จะพบว่า อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 มีความสอดคล้องกันอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาดในปี 2021 และไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนระบาดในช่วงต้นปี 2022
จึงสรุปได้ว่า การเสียชีวิตส่วนเกินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่วัคซีนอย่างที่กล่าวอ้าง
หากวัคซีนคือสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตส่วนเกินในกลุ่มประชากรอายุ 25-44 ปี ตามที่ เอ็ดเวิร์ด ดาวด์ กล่าวอ้าง จะต้องพบการเสียชีวิตส่วนเกินของคนหนุ่มสาวอย่างมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2021 เนื่องจากเป็นช่วงที่อัตราการฉีดวัคซีนในคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันสูงที่สุด
ข้อมูลของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่าในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2021 ชาวอเมริกันอายุ 25-49 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดสเกิน 50% ของจำนวนประชากร และได้รับวัคซีน 2 โดสกว่า 40% ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้นอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินในกลุ่มประชากรอายุ 25-44 ปี กลับลดต่ำลงเทียบเท่ากับช่วงก่อนฉีดวัคซีน
ส่วนการอ้างว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทำให้การเสียชีวิตส่วนเกินของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2021 ก็ไม่เป็นความจริง เพราะสาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าซึ่งก่อโรคได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์ในอดีตกำลังแพร่ระบาด และยังพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ติดเชื้อคนหนุ่มสาวมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ข้อมูลจาก CDC ยังพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวอเมริกันวัย 25-49 ปี เพิ่งจะเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 10% เท่านั้น จึงยืนยันได้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้การเสียชีวิตส่วนเกินในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
สตีเวน วูลฟฟ์ ผู้อำนวยการกิตติคุณ ศูนย์สังคมและสุขภาพ มหาวิทยาลัย Virginia Commonwealth University ย้ำว่า การจะชี้ชัดได้ว่า วัคซีนโควิด-19 คือสาเหตุทำให้การเสียชีวิตส่วนเกินเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องนำการเสียชีวิตส่วนเกินในประชากรที่ฉีดวัคซีนและประชากรที่ไม่ฉีดวัคซีนมาเปรียบเทียบกันเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น
ในการทดลองวัคซีนโควิด-19 กับอาสาสมัครนับหมื่นราย ไม่พบว่ามีการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนอย่างผิดปกติแต่อย่างใด
รายงานของ CDC พบว่า ข้อมูลการเสียชีวิตในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ แสดงข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ในรัฐที่ประชากรฉีดวัคซีนครบโดสจำนวนมาก อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ ส่วนรัฐที่ประชากรฉีดวัคซีนจำนวนน้อย อัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่า
เช่นเดียวกับผลวิจัยผ่านเว็บไซต์วารสารการแพทย์ JAMA Network ที่พบว่าใน 10 รัฐของอเมริกาที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุด จะมีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินมากกว่าอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับ 10 รัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุด
ส่วนการอ้างว่า โรคการตายฉับพลันจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ SADS ถูกค้นพบหลังการรณรงค์วัคซีนโควิด-19 ก็ไม่เป็นความจริง เพราะโรค SADS ที่มีสาเหตุจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์และส่งผลต่อระบบไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ เป็นโรคที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990’s แต่เพิ่งมีการพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter