2 มีนาคม 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : DW / Reuters Fact Check (เยอรมนี / สหราชอาณาจักร)
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ประเภทข่าวปลอม : ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
ภาพและคลิปทั้ง 4 การบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำให้เชื่อว่ามีแนวคิดสนับสนุนระบอบนาซีในประเทศยูเครน
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ เมื่อมีการแสดงหลักฐานว่าประชาชนไม่น้อยในประเทศยูเครนมีแนวคิดสนับสนุนระบอบนาซี ผ่านการแสดงออกในรูปแบบการใช้สัญลักษณ์และข้อความเชิดชูนาซี
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
จากการตรวจสอบโดยศูนย์ Fact Checking ในต่างประเทศ พบว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวล้วนเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
- แฟนบอลยูเครนถูกจับหลังเผยแพร่สัญลักษณ์นาซีระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ – ไม่เป็นความจริง
ในคลิปวิดีโอที่แชร์ทาง Twitter มีการนำโลโก้ของสำนักข่าว Al Jazeera มาใช้ในคลิป โดยเนื้อหาเป็นการรายงานข่าวการจับกุมแฟนบอลชาวยูเครน 3 รายในประเทศกาตาร์ จากข้อหาฉีดพ่นภาพล้อเลียนบนมาสคอตการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 เพื่อให้ตัวมาสคอตมีหนวดคล้ายกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี ข้อมูลในคลิปมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหลายส่วน เนื่องจากเป็นรายงานที่นำภาพที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์มาใช้ประกอบการรายงานข่าวทั้งหมด จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงที่อยู่ในคลิปสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่
ยูเครนมีกฎหมายห้ามชายอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปีเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่ประเทศเผชิญภาวะสงคราม นอกจากนี้ทีมฟุตบอลทีมชาติยูเครนก็ไม่ได้ร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพ จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีแฟนบอลยูเครนลักลอบออกนอกประเทศเพื่อไปร่วมมหกรรมฟุตบอลโลกที่ทีมชาติตัวเองไม่ได้ลงแข่ง
ภาพประกอบหลายชิ้นในรายงานก็ขัดแย้งจากความเป็นจริง ทั้งการระบุชื่อสนามในเหตุการณ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่วนเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจในคลิปก็ได้รับการยืนยันจากกระทรวงมหาดไทยกาตาร์ว่า ไม่ใช่เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ตำรวจกาตาร์อีกด้วย
รวมถึงคำชี้แจงจากสำนักข่าว Al Jazeera ที่ยืนยันว่า คลิปดังกล่าวไม่ใช่ผลงานข่าวของ Al Jazeera แต่อย่างใด
- ทหารยูเครนติดคำขวัญนาซีบนเครื่องแบบ – ไม่เป็นความจริง
ภาพที่แชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพชายในชุดทหารยูเครนติดคำขวัญของนาซีบนหมวกทหาร โดยผู้แชร์อ้างว่าคือหลักฐานที่พิสูจน์ว่ามีทหารในกองทัพยูเครนสนับสนุนระบอบนาซี
อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบด้วยเทคนิค reverse image search พบว่า ภาพต้นฉบับถูกสลับด้านจากซ้ายไปขวา และหมวกของชายในรูปต้นฉบับก็ไม่มีข้อความใด ๆ พิมพ์เอาไว้อีกด้วย
นอกจากนี้ ชายทั้ง 3 ในชุดทหาร แท้จริงแล้วคือกลุ่มนักดนตรีชื่อ Antytila ซึ่งโด่งดังทาง Youtube จากผลงานการรีมิกซ์เพลง 2Step ของ เอ็ด ชีแรน จนทำยอดรับชมมากกว่า 16 ล้านวิวในเวลา 9 เดือน
- ห้างสรรพสินค้าในยูเครนแสดงสัญลักษณ์สวัสดิกะ
มีคลิปวิดีโอที่แชร์ทาง Twitter แสดงภาพห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในประเทศยูเครน ที่ฉายภาพสวัสดิกะสีดำบนธงสีแดงบนจอ LED สื่อถึงสัญลักษณ์ของนาซีอย่างชัดเจน
แม้การตรวจสอบจะยืนยันได้ว่าคลิปดังกล่าวเป็นภาพจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2019 แต่ตัวแทนของห้างสรรพสินค้าชี้แจงว่า สาเหตุที่สัญลักษณ์สวัสดิกะถูกโชว์ในห้าง เนื่องจากระบบควบคุมจอ LED ถูกผู้ไม่หวังดีเข้ามาแฮกระบบ ทำให้สัญลักษณ์สวัสดิกะถูกฉายขึ้นจอโดยทางห้างไม่มีส่วนรับรู้ เมื่อตรวจพบความผิดพลาดทีมงานจึงได้ปิดจอ LED ในเวลาไม่นาน
- ทหารยูเครนสักรอยสวัสดิกะเต็มร่างกาย
ภาพที่แชร์ทาง Twitter อ้างว่า ทหารยูเครนในเมืองโดเนตสก์สักร่างกายด้วยสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซีเต็มตัว ซึ่งทำให้เชื่อว่าแนวคิดนีโอ นาซีกำลังแพร่หลายในกองทัพของยูเครน
จากการตรวจสอบด้วยเทคนิค reverse image search พบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าและไม่ได้ถ่ายในประเทศยูเครน
ภาพต้นฉบับที่พบในเว็บไซต์ Getty Images ยืนยันว่า เป็นภาพที่ถ่ายเอาไว้ตั้งแต่ปี 2005 ในเรือนจำของประเทศเบลารุส โดยแพทย์เรือนจำกำลังตรวจสุขภาพผู้ต้องขังคนหนึ่งที่มีรอยสักสัญลักษณ์สวัสดิกะ ระหว่างการอภัยโทษในวาระครบรอบ 60 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2005
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.dw.com/en/fact-check-is-there-any-truth-to-russias-ukrainian-nazis-propaganda/a-63970461
https://www.reuters.com/article/factcheck-nazi-tattoos-idUSL1N2YH27Q
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter