26 เม.ย.64-หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการของศาลกีฬาโลก ได้ตัดสินพิจารณาอุทธรณ์ของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กรณีนักกีฬายกน้ำหนักไทยถูกพบสารต้องห้าม ในการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2561 ที่กรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน โดยได้ระบุว่า นักกีฬาระดับยุวชน สามารถกลับไปแข่งขันเวทีนานาชาติได้ทันที ส่วนนักกีฬายกน้ำหนักเยาวชน และประชาชน จะกลับไปแข่งขันได้ หลังจากวันที่ 18 มิถุนายน2564 แต่หากต้องการกลับไปแข่งขันทันที ทางสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ จะต้องชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,400,000 บาท ให้สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (ไอดับเบิ้ลยูเอฟ) แต่ยังไม่สามารถเข้าร่วมโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2021/04/0CCFF6CE-4F60-4C16-BA1A-8F63515616BA-1024x580.jpeg)
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค ผู้ตัดสินหรือกรรมการตัดสินนานาชาติ สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนสมาคมฯ จะถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2566 อย่างไรก็ตามหากสมาคมฯ ชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,400,000 บาท จะทำให้ระยะเวลาการถูกจำกัดสิทธิ์สามารถกระชับหรือย่อขึ้นมาได้ประมาณ 1 ปี โดยให้ไปสิ้นสุดได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 นั้น
ล่าสุด นายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ประธานคณะทำงานกฎหมายระหว่างประเทศ ของสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ได้ส่งอีเมล์ไปยังสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ แสดงเจตจำนงขอชำระเงินค่าปรับจำนวน200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าสนับสนุนอีก 5,000 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 170,000 บาท รวมเป็น 6,570,000 บาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อแสดงความจริงใจน้อมรับและเคารพคำตัดสินของศาลกีฬาโลกทุกประการ รวมทั้งเพื่อเปิดทางให้นักกีฬาและสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ได้กลับเข้ามามีส่วนร่วมในระดับนานาชาติด้วย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2021/04/ABE490E9-6A50-4630-BA19-717187138ACE-1024x578.jpeg)
โดยสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของนักกีฬาและบุคลากรเป็นสำคัญ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอคำตอบกลับจากสหัพนธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ พร้อมกันนี้ นายนิพนธ์ ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่ศาลกีฬาโลกมีคำตัดสินในกรณีดังกล่าว พบว่าเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติwww.iwf.net ได้นำเสนอข่าวผลการตัดสินของศาลกีฬาโลกในกรณีดังกล่าว แต่ข้อมูลบางส่วนไม่ครบถ้วน ทำให้ข้อเท็จจริงเกิดความคลาดเคลื่อน
ดังนั้น สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักทนายความสวิสฯ เพื่อขอให้ประสาน เว็บไซต์ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เป็นไปตามข้อเท็จจริง ตามคำตัดสินของศาลโลก จากนั้นวันที่ 20 เมษายน 2564 ได้มีการปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้เป็นไปตามคำตัดสินแล้ว-สำนักข่าวไทย