สปคม. 9 ส.ค.- อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำลดระดับเตือนภัยโควิด เหลือโรคติดต่อเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.นี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ หลัง WHO เตรียมทบทวนระดับเตือนภัยโรคเช่นกัน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า การดำเนินการทุกอย่าง เพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน อีกทั้งต้นเดือนตุลาคมทางองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินจะมีการประชุมหารือเรื่องระดับเตือนภัยโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์โควิดเปลี่ยนไปมาก สำหรับการจัดระดับโรค กรมควบคุมโรคแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคติดต่อทั่วไป เป็นโรคที่มีชื่อเอาไว้ หากรุนแรงขึ้น ก็อาจประกาศเป็นโรคระบาด 2.โรคติดต่ออันตราย คือ โรคที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด แพร่เร็ว ต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อควบคุมกักตัว หากอยู่ในระยะสงสัย รวม 13-14 โรค และ 3 โรคติดต่อเฝ้าระวัง เป็นโรคที่ไม่รุนแรงมาก แพร่ระบาดไม่สูง มี 50 โรค
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกปฏิบัติกับโควิดเหมือนโรคทั่วไป เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไม่มีการจำกัดการเดินทางใช้ชีวิตตามปกติ เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังก็เทียบได้กับโรคไข้เลือด ที่ต้องมีการระวังติดต่อ และรายงานการติดเชื้อมายังระดับกรมควบคุมโรค จากนั้นรายงายให้กระทรวงสาธารณสุขทราบอีกทั้งการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังยังต้องจับตาดู เพราะโรคนี้แม้ความรุนแรงเท่ากับอดีต แต่เชื่อสถานการณ์ความรุนแรงของโรคค่อย ๆ ปรับลดลง และการกลายพันธุ์ของโรคช้าลง จะเห็นว่าไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงจากอู่ฮั่น อัลฟา เบต้า โอไมครอน และสายพันธุ์ย่อยจาก BA.1. BA.2 และ BA.4, BA.5 อีกทั้งคนเราอยู่กับโรคนี้มา 3 ปีแล้วรู้ว่าจะต้องป้องกันตนเองอย่างไร
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนการเปลี่ยนโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังนั้น ประชาชนยังปฏิบัติตัวเช่นเดิม ยังคงต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ส่วนการรักษาและการแยกกักตัวสำหรับคนที่สัมผัสผู้ป่วยหรือเสี่ยงสูงนั้น ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ในคนป่วยแยกกักรักษาจากเดิม 14 วัน เหลือ 7+3 วัน ส่วนกักตัวในคนสัมผัสผู้ป่วยยกเลิกแล้ว.-สำนักข่าวไทย