กรุงเทพฯ 8 ก.ค. – กทม. ประเมินเปิดศูนย์กักตัวในชุมชน Community Isolation ในแต่ละเขตกลับมาอีกครั้ง หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ห่วงกลุ่ม 608 แนะฉีดบูสเตอร์โดส ลดความรุนแรงของโรค
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าห่วงกลุ่ม 608 และกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว เพราะคนที่ติดส่วนใหญ่ตอนนี้มีทั้งวัยทำงานเอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน พบว่า บางคนอาจจะไม่สะดวกกักตัวรักษาที่บ้าน จึงได้สั่งการให้แต่ละเขตสำรวจและพิจารณาทำ Community Isolation (CI) กลับมาอีกครั้ง โดยให้เน้นดูในกลุ่มพื้นที่ชุมชนแออัดก่อน ส่วนการเตรียมพร้อมเรื่องยา กทม. ประสานงานกับ สธ.และ ศบค. ต่อเนื่อง โดยเฉพาะยาโมลนูพิราเวียร์ ถ้าผ่าน อย. แล้วกำลังพิจารณาให้ กทม. สามารถจัดซื้อเองได้ เพื่อให้มียาสำรองเอง
ผู้ว่าฯ กทม. ยังเผยว่าเชิญชวนกลุ่ม 608 ฉีดบูสเตอร์โดส ซึ่งใน กทม. กลุ่มนี้ฉีดไปแล้ว 50% หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป หากครบระยะที่กำหนด ควรไปฉีดเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แนะควรใส่หน้ากากแม้อยู่ในที่โล่ง ถ้าอยู่ใกล้เกิน 1 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงด้วย และตนเองก็จะเป็นตัวอย่างให้ประชาชนเรื่องสวมหน้ากากในที่สาธารณะ เช่น ตอนออกกำลังกายเช้า ๆ
ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในโรงเรียนสังกัด กทม.437 แห่ง มีจำนวนนักเรียนติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ รร.ยังจัดการเรียน On Site ได้ เพราะ รร.สังกัด กทม.ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กถึงประถม แต่ส่วนใหญ่ที่พบติดเชื้อขณะนี้เป็นนักเรียนระดับมัธยม โดยได้เน้นย้ำให้โรงเรียนเตรียมพร้อม คัดกรองเด็กตั้งแต่หน้าโรงเรียน และจัดทำรูปแบบการสอนออนไลน์ หากใน รร.มีคลัสเตอร์กลุ่มเล็กผู้บริหาร รร.ตัดสินใจได้เลยหากจะสลับมาเรียนออนไลน์ และขอให้งดจัดกิจกรรมรวมกลุ่มใหญ่ โดยปกติมีแนวทางจัดการ หากพบนักเรียนติด 1-2 คนในห้อง ให้ผู้ปกครองรับตัวกลับบ้าน โดยที่ไม่ต้องปิดทั้งห้องเรียน แต่หากพบมากกว่านั้นจนกลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่มากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถพิจารณาปิดเรียนได้ 3 วัน ย้ำทุกโรงเรียนให้แจ้งผู้ปกครอง สังเกตอาการลูกหลานคืนก่อนหน้ามา รร. ให้กักตัวไว้ที่บ้านก่อนและตรวจเอทีเค รร.พร้อมสอนออนไลน์ มีชั่วโมงเรียนชดเชยให้
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังเปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ของ กทม. มีจำนวนผู้ติดเชื้อวันละประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก สามารถเข้ามารับยาตามระบบของ รพ.สังกัด กทม. ยังสามารถรับมือได้ แต่อาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน 1-2 วันนี้ ระบบใน กทม.หากตรวจพบเชื้อ ให้ติดต่อศูนย์บริการสาธาณสุขทั้ง 69 แห่งของ กทม. ไปที่ รพ.สังกัด กทม. ก็จะมีการจัดสรรยาให้ โดยระบบมีการสำรองยาเพียงพอ และยังมีจำนวนเตียงรองรับได้ประมาณ 40% แต่ยอมรับว่าพบผู้ป่วย 608 ที่เป็นกลุ่มอาการเหลือง แดง มากขึ้น ส่งผลให้เตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักเริ่มตึง
ส่วนระบบ 1669 จะช่วยเป็นระบบกลางช่วยจัดสรร รพ.ปลายทางให้ ประสานความมือกับจิตอาสา เส้นด้ายช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง ปัจจุบัน ระยะเวลาการรอสายเมื่อติดต่อเข้ามายังศูนย์เอราวัณ กทม. ประมาณ 10 วินาที ต่อ 1 สาย ยืนยันมีคนรับสายแน่นอน โดยยอดสูงสุดอัตราการหน่วงของสายรอนานสุดที่ 2-3 นาทีต่อคน หากวันหนึ่งมีโทรเข้ามามาก 2,000-3,000 สาย โดย กทม.พยายามไม่ให้ผู้ป่วยรอนานเกินไป ประสานเพิ่มคนรับสายเข้าระบบได้ทันที เพราะเข้าใจความรู้สึกผู้ป่วยที่กำลังรอสาย กทม.จะพยายามปรับระบบให้รับสายได้เร็วที่สุด. -สำนักข่าวไทย