แฟลตดินแดง 8 ก.ค.- การเคหะแห่งชาติ ร่วมเขตดินแดง ปฏิบัติลอกท่อล่าหนู พบปัญหาหลักคือขยะในชุมชนมีมาก และพื้นอาคารทรุด ปมแหล่งที่อยู่หนู เตือนหนูท่อที่พบเป็นหนูนอร์เวย์ ห้ามบริโภคเด็ดขาด มีกลิ่นสาบแหล่งเชื้อโรค
นายนิวัฒน์ ดวงจิโน ผอ.เขตดินแดง พร้อมด้วยตัวแทนจากการเคหะแห่งชาติ ปฏิบัติการกำจัดหนูในโครงการเคหะชุมชนดินแดงแฟลต 5-8 ซึ่งมีรายงานว่าเป็นอาคารที่พบหนูมากที่สุด โดยวันนี้เจ้าหน้าที่จากเขตได้ร่วมกันขุดลอกท่อโดยรอบอาคาร ผู้อำนวยการเขตดินแดง ระบุสาเหตุส่วนหนึ่งที่แฟลตดังกล่าวพบหนูจำนวนมากนั้นเกิดจากพื้นอาคารทรุดตัวเพราะเป็นอาคารที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2506 ทำให้ด้านล่างมีโพรงใต้ดินจากอาคารทรุดตัว เป็นที่อยู่อาศัยของหนูจำนวนมาก และส่วนหนึ่งเกิดจากรูปแบบอาคารที่เป็นแบบเก่ามีช่องให้หย่อนทิ้งขยะจากด้านบนลงมาชั้นล่าง ทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ขยะหมักหมมได้ง่าย ประกอบกับหนึ่งสาเหตุหลักคือปัญหาขยะที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ทิ้งขยะนอกจุดทิ้ง ที่เขตกำหนดไว้และขยะก็สะสมจนเป็นแหล่งอาหารของหนู โดยยอมรับว่าการจัดการพื้นที่ในแฟลตเป็นเรื่องของการเคหะฯ กทม.มีหน้าที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บ กำหนดสัปดาห์หนึ่งเก็บ 2 ครั้ง โดยหลังจากเมื่อวานนี้ได้วางกรงดักหนูไว้จำนวน 12 กรง ก็พบว่าได้ผล จับหนูได้จำนวนมากซึ่งได้มีการสุ่มตัวอย่างหนูส่วนหนึ่งไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโรคในหนู
ผอ.เขตดินแดง ยังระบุว่า ขอร้องประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ห้ามมิให้อาหารหนู ซึ่งทราบมาว่าบุคคลที่อาศัยอยู่ในอีกอาคารหนึ่ง มักนำอาหารบอกว่าสงสาร อยากให้อาหารหนูซึ่งกระทบกับคนในอาคารแฟลตที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และเกิดการทะเลาะกันบ่อยครั้ง โดยเขตจะดำเนินการเตือนก่อน แต่หากยังไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดทางกฎหมายมีโทษปรับ โดยเจ้าหน้าที่จะช่วยกันทำความสะอาดบริเวณฝาท่อขยะอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่ให้อาหารหนู และขอให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นที่ และไม่นำออกมาทิ้งข้างนอกไม่ทิ้งลงท่อ นอกจากนี้ยังประชาสัมพันธ์ว่าห้ามนำหนูมาบริโภคเป็นอันขาด เพราะหนูในพื้นที่ดังกล่าวเป็นหนูนอร์เวย์เป็นสายพันธุ์ที่ไม่สามารถรับประทานได้และเป็นแหล่งเชื้อโรค
การเคหะแห่งชาติ เผยว่าในระยะยาวการเคหะแห่งชาติได้วางแผนสร้างอาคารแฟลตใหม่แทนที่อาคารเดิมแล้ว แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะแล้วเสร็จทำให้ต้องมีการจัดการบริเวณอาคารแฟลตที่พบปัญหาหนูในการแก้ไขให้ได้ระยะยาวและเป็นการลดปัญหาขยะและแหล่งสะสมเชื้อโรคในพื้นที่โดยรอบด้วย. -สำนักข่าวไทย