กรุงเทพฯ 28 มิ.ย. – ผู้ว่าฯ กทม.หารือ กปน.-กฟน.-บช.น. ประสานรับเรื่องแก้ปัญหาผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์แบบไร้รอยต่อ เตรียดผุดจุดน้ำประปาดื่มฟรี ขันนอตนำสายไฟ สายสื่อสารลงดิน พร้อมคุย กสทช.-ดีอีเอส แนะขอความร่วมมือผู้ประกอบการสายสื่อสาร-เคเบิล สำรวจสายที่ไม่ได้ใช้งานจัดระเบียบก่อน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือความร่วมมือระหว่างนายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง นายเดชา วิริยะเจริญกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับนายวสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยเนคเทค ผู้พัฒนาทราฟฟี่ ฟองดูว์ ร่วมประชุมด้วย
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการพูดคุยขอความร่วมมือในการประสานรอยต่อหน่วยงานนอกที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกินกว่าอำนาจของ กทม. เช่น แจ้งน้ำรั่ว ขุดท่อ ไฟดับ สายไฟขาด คนชอบจอดรถผิดที่ ขวางถนน โดยข้อสรุปหลังการพูดคุยในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ แต่ละหน่วยงานมีรหัสของตัวเอง ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งแต่ละหน่วยก็จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขอยู่แล้ว เข้าไปดึงเรื่องต่อในระบบได้ทันทีระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ จะเป็นสื่อกลาง พร้อมตั้งตัวบุคคลเป็นผู้ประสานงานแต่ละหน่วย
นายวสันต์ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ระบบดังกล่าวทำมานานแล้ว ก่อนหน้าผู้ว่าฯ กทม.จะนำมาปรับใช้ก็มีหน่วยงานท้องถิ่นจำนวนหนึ่งนำไปใช้ แต่ยอมรับว่าหลังจากผู้ว่าฯ กทม.นำมาใช้จนเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้มีหน่วยงานท่องถิ่นสนใจนำระบบไปใช้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า ซึ่งฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
ผู้ว่าฯ กทม. เผยมีที่คุยเพิ่มกับการประปาฯ คือ กทม.อยากทำจุดน้ำดื่มให้ประชาชนฟรี เดิมเคยมีแต่ตอนนี้ใช้งานไม่ได้หมดแล้ว จึงได้ข้อสรุปตั้งคณะทำงานร่วมกัน น่าจะได้เห็นเร็ว ๆ นี้ เผยอยากให้ กทม.มีจุดน้ำประปาดื่มได้ เพราะ กปน.สร้างความเชื่อมั่นเรื่องนี้อยู่แล้ว และประโยชน์อีกทางคือจะช่วยลดจำนวนขวด PET แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนที่พูดคุยกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น ได้ข้อสรุปประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบรับแจ้งเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง เช่น จอดรถกีดขวาง สัญญาณไฟต่าง ๆ วางแผนให้แต่ละ สน.เข้าถึง เพื่อโฟกัสจุดที่ตนเองดูแล เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น
ด้านนายเดชา กล่าวว่า กฟน.จะเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ที่กังวลเรื่องหม้อแปลง ระบบไฟต่าง ๆ โดย กฟน.ปรับระบบการเข้าไปดูแลหม้อแปลงในเมืองประมาณ 400 จุด เดิมจะมีการบำรุงรักษาปีละ 1 ครั้ง ก็จะปรับเพิ่มเป็น 6 เดือน/ครั้ง พร้อมขอความร่วมประชาชน หากพบหม้อแปลงมีน้ำไหลออกมา หรือมีเสียงดังผิดปกติให้แจ้งมาที่สายด่วน กฟน. 1130 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาแก้ไข ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้นั้น เกี่ยวกับหม้อแปลงหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ สอบสวน ซึ่งต้องใช้เวลาในการผ่าหม้อตรวจสอบระบบหม้อแปลงในจุดที่เกิดเหตุ
นายชัชชาติ ยังกล่าวให้กำลังใจการไฟฟ้านครหลวงเรียกความเชื่อมั่นกับประชชาน เรื่องของหม้อแปลง สายไฟต่าง ๆ หลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้สำเพ็ง หากส่วนไหน กทม.ช่วยได้ ช่วยทันที ตั้งข้อสังเกตปกติสายเคเบิล สายสื่อสารมีข้อกำหนดอยู่ว่าต้องวางระยะห่างเท่าใด แต่ปัจจุบันพบว่าหลายจุดสายวางพาดกันมั่วเยอะ อาจต้องช่วยกันดู ตั้งเป้านำร่องจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร ถนนที่ผ่านเยาวราช-สำเพ็ง ที่เกิดเหตุ เพราะสายมันก็ขาดไปแล้วก็จะได้เริ่มตรงนี้เลย
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันทำ คือ สำรวจว่าสายสื่อสารสายไฟใดบ้างไม่ได้ใช้งานแล้วให้ตัดออกป้องกันหากมีไฟไหม้ก็จะเป็นตัวนำลุกลามได้ มองว่าแก้ปัญหาที่จะช่วยลดภาระภาครัฐ คือ การอาศัยความร่วมมือเรียกผู้ประกอบการเจ้าของสายเข้ามาจัดการสายของตัวเอง ซึ่งโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ส่วนความคืบหน้าการนำสายสื่อสาร สำหรับการจัดระเบียบสายสื่อสารจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ กฟน. มีแผนเอาสายไฟฟ้าลงดิน ก็จะนำสายสื่อสารลงดินด้วย ส่วนที่ 2 คือ การจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบาย โดยมีกรุงเทพธนาคมดำเนินการ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ปัจจุบันยังหาผู้เช่าท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิค ซึ่งทาง กทม.กำลังเร่งหาข้อสรุปให้ชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ล่าสุดนัดหารือ กสทช. เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ที่ยังมีเสาไฟฟ้า อะไรทำได้ก็ทำเลย ส่วนที่ รมว.ดีอีเอส นัดหมายวันที่ 4 ก.ค.นี้ ทราบแล้ว ก็พร้อมพูดคุยหารือกัน
นายชัชชาติ กล่าวถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต และส่วนใต้ ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ หลังจากเปิดนั่งฟรีมานาน โดยมีตัวเลขรวมสายที่ 59 บาทนั้น ชี้แจงว่าตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าระยะยาว แต่เป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดทุนเฉพาะหน้าตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอ กทม. เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถที่ต้องจ่ายให้กับบีทีเอส โดยให้เก็บทั้งช่วงเส้นทางสัมปทานหลัก และช่วงที่เป็นส่วนต่อขยายในอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 59 บาท ซึ่งราคาปัจจุบัน 59 บาทอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรกับช่วงที่ 2 ส่วนต่อขยายที่ยังไม่ได้มีการเก็บค่าโดยสาร แต่ให้ผู้โดยสารขึ้นฟรี เพราะจากการสำรวจ พบว่าช่วงที่ 2 มีผู้โดยสารประมาณ 27% ผู้โดยสารนั่งฟรี แต่ กทม.ไม่ฟรี กทม.ยังต้องจ่ายค่าเดินรถ เพราะจ้างเอกชนเดินรถ ยืนยันการคิดเรตราคา เพื่อไม่ให้เป็นภาระและต้องยุติธรรมกับคนอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างวินมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งอยู่ข้างล่างของช่วงส่วนต่อขยายเจ๊งหมด เพราะคนไปขึ้นรถไฟฟ้าฟรียาวไปถึงคูคต ส่วนตัวเลขที่มีการเสนอให้เก็บ 30 บาท ย้ำว่าการคิดราคาเฉลี่ยจำนวนสถานีปกติที่ผู้โดยสารจะนั่งเฉลี่ยไม่ได้คิดเรตตลอดสาย ส่วนใหญ่ไม่มีใครนั่งยาวตลอดทุกสถานีทั้งหมดอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย