กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – สาธารณสุข วางแผน เตรียมปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หลังยอดผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงด้วย
ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้การติดเชื้อเริ่มลดลงตั้งแต่หลังสงกรานต์ สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงด้วย อัตราการเสียชีวิต 0.14% โอไมครอนแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้จะมีโรคเรื้อรังอื่นแต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโควิด แต่ปัจจุบันคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและติดโควิด ก่อนเสียชีวิตตรวจพบเชื้อแต่สาเหตุการตายมาจากโรคเรื้อรังเดิม เป็นสาเหตุของการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 84 คน ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิต ที่มีอาการติดเชื้อโควิด ปอดอักเสบรุนแรง
สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ 84 คน มีอาการปอดอักเสบรุนแรง เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง เกือบ 90% ไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดเพียง 2 เข็ม ฉีดวัคซีน 3 เข็ม 8 คน และฉีดวัคซีน 4 เข็ม เสียชีวิต 1 คน วัคซีนจึงมีความสำคัญลดความรุนแรงของโรค ตรวจพบเชื้อในวันที่เสียชีวิต 8 คน และตรวจพบเชื้อ 1-3 วันก่อนเสียชีวิต 20 คน
“การปรับระบบรายงานให้สอดรับกับสถานการณ์ในช่วงขาลง วางแนวทางการเพื่อลดการเสียชีวิตทั้งจากการติดเชื้อโดยตรงและผู้ที่มีโรคร่วมสำคัญ เนื่องจากลักษณะการใช้ยาแตกต่างกัน การรักษาโควิดอาจทำให้โรคร่วมกำเริบอาการรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้จะเพิ่มการรายงานภาวะหลังติดเชื้อ ทั้งภาวะ Mis-C ในกลุ่มเด็ก เนื่องจากอาการอักเสบหลายระบบอาจทำให้เสียชีวิตได้ และภาวะ Mis-A หรือลองโควิดในผู้ใหญ่” หมอจักรรัฐระบุ
อย่างไรก็ตาม การประเมินสถานการณ์ระบาด ยังต้องคำนึงถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อจาก PCR ร่วมกับ ATK โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช. ได้รวบรวมข้อมูลผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก ลงทะเบียนขอรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก รับยาทางไปรษณีย์ ในสัปดาห์ที่ 17 มีผู้ติดเชื้อลงทะเบียน 498,578 คน หมายความว่าแต่ละวันติดเชื้อ 4-6 หมื่นคนต่อวัน ทำให้ สธ. คงระดับการเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ
นพ.จักรรัฐ เปิดเผยถึงจำนวนผู้ตรวจ ATK ด้วยตนเองลงทะเบียน HI/CI ซึ่งเป็นระลอกตั้งแต่เดือน ม.ค.65 รวม 2,941,601 คน ในภาพรวมทั่วประเทศการติดเชื้อกว่าครึ่งอยู่ในแถบภาคอีสาน ทั้งนี้แนวโน้มการติดเชื้อและผู้ป่วยปอดอักเสบลดลง ขณะที่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจยังทรงตัว
ขณะนี้ 40 จังหวัดแนวโน้มติดเชื้อลดลงและทรงตัว ในเดือน พ.ค. เป็นการวางแผนระยะหลังการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ถ้าโควิดกลายพันธุ์แพร่เร็ว หรือรุนแรงขึ้น จะได้มีศักยภาพในการป้องกันและรับมือ การฉีดวัคซีน คือ การป้องกันคนในประเทศ จำเป็นต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้นให้เกิน 60% เนื่องจากอัตราการตาย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 65 ซึ่งมีการระบาดของโอไมครอนเป็นวงกว้าง อัตราการตายของประชากรเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มอายุ 60-69 ปี และผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี .-สำนักข่าวไทย