สธ. 12 เม.ย. – กรมควบคุมโรค คาดยอดโควิดยังทรงตัว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ห่วงป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มสูง ย้ำกลับบ้านช่วงสงกรานต์ คลีนตัวเองให้ดี เพราะการติดเชื้อวนเวียนจากบ้านมาที่ทำงาน พร้อมสั่งกระจายวัคซีนไฟเซอร์สีเทารุ่นใหม่แบบไม่ต้องผสมให้ รพ.สต.พร้อมฉีด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกพบการติดเชื้อ 499 ล้านคนแล้ว คาดว่าพรุ่งนี้ (13 เม.ย.) จะมียอดป่วยติดเชื้อ 500 ล้านคน เสียชีวิต 6.2 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราตายอยู่ที่ 1.24% ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้น มาจากหลายประเทศที่กลับมามีการระบาดเพิ่มขึ้น เช่น เยอรมันนี สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ไทยเอง ก็พบว่ามีผู้ป่วยหลักหมื่น และเสียชีวิตหลักร้อย ติดต่อกันมา 3 วันแล้ว โดยวันนี้ (12 เม.ย.) พบการติดเชื้อ 25,033 คน เสียชีวิต 101 คน และเหลือรักษาตัวใน รพ. 237,399 คน ในจำนวนนี้มีปอดอักเสบ 2,056 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 885 คน หากมองที่จำนวนผู้เสียชีวิต ทั้ง 101 คน จะพบว่า 97% เป็นกลุ่ม 608 และเกิดภาวะปอดอักเสบถึง 96 คน ส่วนอีก 5 คนไม่มีอาการปอดอักเสบ ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนไปต้องคลีนตัวเองให้ดี เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล เมื่อกลับมาหลังเทศกาลสงกรานต์ก็เช่นกัน เพราะพบว่าสาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่ วนเวียนติดจากบ้านมาที่ทำงาน จากที่ทำงานมาบ้าน ลักษณะเช่นนี้เสมอ โดยคาดการณ์สถานการณ์ของไทย จะทรงตัวและอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ
นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า การรับวัคซีนจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 31 เท่า ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกระจายวัคซีนลงไปในระดับ รพ.สต.ให้มีความพร้อมในการฉีดใหักับประชาชน ที่มีบุตรหลานเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วพาผู้ปกครอง ผู้สูงอายุมาฉีด จากเป้าหมาย 3 ล้านคน ตอนนี้ผู้สูงอายุฉีดไปแล้ว 2 ล้านคน เหลือ 1 ล้านคน โดยเป็นวัคซีนแบบชนิด ไฟเซอร์ ฝาสีเทา ที่เป็นวัคซีนที่ได้รับมาจากบริจาคจากฝรั่งเศสส่วนหนึ่ง และการสั่งซื้อส่วนหนึ่ง เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ มีการผสมน้ำเกลือมาแล้ว พร้อมฉีดได้ทันทีไม่เหมือนวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีม่วง ที่ต้องผสมน้ำเกลือ ส่วนอายุการจัดเก็บก็สามารถเก็บนานได้ขึ้น 8 สัปดาห์ หลังจากนำออกมาจากอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และมาอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ส่วนเรื่องมาตรการลดวันกักตัว เนื่องจากทั่วโลกก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยน การกักตัวในกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูง เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ย้ำว่ากักตัวไม่ได้หมายความเท่ากับป่วย และจะเปลี่ยนจาก 7+3 วัน เป็น 5+5 วัน ภาพรวมยังเป็น 10 วันเท่าเดิม
นพ.โอภาส กล่าวว่า 5 วันแรกเป็นการกักตัวไม่เจอคนอื่น แต่อีก 5 วันหลังเป็นการสังเกตอาการคลีนตัวเอง สามารถไปไหนมาไหนได้ ทั้งนี้การกักตัว ต้องดูว่า มีความเสี่ยงติดเชื้อแค่ไหน โดยคาดว่าการบังคับใช้น่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ทั้งนี้ต้องหลังจากดูสถานการณ์การติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ .-สำนักข่าวไทย