ศิริราช 22 มี.ค. – “หมอประสิทธิ์” เผยสงกรานต์นี้ชี้ขาดโควิดเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ทุกคนต้องตระหนักมาตรฐานส่วนบุคคล และตรวจ ATK แนะป้องกันผู้สูงอายุในบ้านด้วยการพารับวัคซีน หลังตัวเลขเสียชีวิตจากผู้สูงวัย 80-90%
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการระบาดโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อยังมี 4 เสี่ยงเหมือนเดิม คือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้น ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือ สงกรานต์ ปีที่แล้ว 2564 หลังสงกรานต์พบว่าหลายอย่างแย่ลง แต่จุดต่างปีนี้ 2565 คือ มีการฉีดวัคซีน รวมถึงสายพันธุ์โอไมครอนที่ความรุนแรงลดลง ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาถือว่าผ่านจุดทดสอบได้ดี ตัวเลขติดเชื้อเกือบจะไม่ขึ้นมากนัก แต่กลับมาขยับสูงขึ้นในหลังตรุษจีน ดังนั้นในการเดินทางกลับภูมิลำเนาเยี่ยมบ้านในสงกรานต์ คาดว่าจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดกันมากขึ้น ต้องระวังเพราะบางคนอดทน 2 ปีที่ผ่านมาลดการเดินทาง ดังนั้นเพื่อความสบายใจการเดินทางเยี่ยมญาติคนไปเยี่ยมก็ควรทำตัวให้สะอาดปลอดภัย มีการตรวจ ATK เพื่อความมั่นใจ เพราะโอไมครอนติดง่าย
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูล 3 สัปดาห์ของเดือน มี.ค. พบว่า 50-60% ของผู้เสียชีวิต เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน อีก 30% เป็นผู้ที่ฉีดเพียง 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ส่วน 5-10% คือคนที่ฉีดเข็ม 1 อย่างเดียว ฉะนั้นเมื่อรวมกันก็จะมีถึงกว่า 90% นี่คือคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอ ต้องเร่งแก้จุดตรงนี้ เพราะผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย มีถึง 2.1 ล้านคน โดยพบว่าสัดส่วนของผู้เสียชีวิต 80-90% คือ กลุ่ม 608 ฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน คนที่รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือนก็ด้วยเช่นกัน พร้อมย้ำส่วนสาเหตุที่โอไมครอนไม่รุนแรง มี 2 ปัจจัย ประกอบคือ ตัวไวรัสที่อ่อนกำลังลง และจำนวนคนฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ไวรัสความรุนแรงน้อยลง
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า บททดสอบการเป็นโรคประจำถิ่นของเชื้อโอไมครอนได้นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์สงกรานต์นี้ว่าไทยจะสามารถจัดการกับสถานการณ์การติดเชื้อได้หรือไม่ ทั้งการเฝ้าระวังตนเองพื้นฐาน การสวมหน้ากากอนามัย ระยะห่าง ล้างมือ และการผลักดันการรับวัคซีนก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์.- สำนักข่าวไทย