กทม. 27 ก.พ.-รองผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่ถนนทรุด สุขุมวิท 103 ซอยอุดมสุข 51-53 พบเกิดจากการขุดเจาะท่อกับอาคารรับน้ำ ทำให้เกิดรอยรั่ว เตรียมใช้โฟมเคมีอุด คาด 2 วันแก้ปัญหาใต้ดินเสร็จ ส่วนบนดินการจราจรใช้เวลา 1 เดือน เบื้องต้นพบปัญหาดินทรุดชั่วโมงละ 1 มม.
นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุถนนทรุด บริเวณถนนสุขุมวิท 103 ซอย อุดมสุข 51-53 คลองเคล็ดไปทางถนนศรีนครินทร์ ความยาวประมาณ 50 เมตร ความลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตร ว่าจากการลงไปสำรวจอุโมงค์รับน้ำในการก่อสร้างโครงการอุโมงค์บึงหนองบอน เพื่อช่วยน้ำท่วมขังฝั่งตะวันออกในเขตประเวศ สวนหลวง บางนา และพระโขนง พบการรอยรั่วจากการขุดเจาะ บริเวณปล่องรอยต่อ ระหว่างท่อกับอาคารรับน้ำ ทำให้เกิดรอยรั่ว ประกอบกับแรงดัน ทำให้น้ำไหลออก เกิดดินสไลด์ทรุดตัวในชั้นใต้ผิว การแก้ปัญหาจะใช้โฟมเคมีไปอุดรอยรั่ว และเติมน้ำลงไปพร้อมนำกระสอบไปอุดเพื่อเสริมให้ระดับน้ำใต้ดินสมดุล คาดว่าภายใน 2 วันจะสามารถแก้ไขปัญหาใต้ดินสำเร็จ พร้อมกันนี้ยังติดตั้งเครื่องวัดระดับการทรุดตัวของดินเพื่อติดตามสถานการณทรุดตัวของดิน จากการติดตามตั้งแต่เมื่อคืน จนถึงขณะนี้พบดินทรุดตัว ชั่วโมงละ 1 มิลลิเมตร เชื่อปัญหาดินทรุดจะค่อยๆ ดีขึ้น ทั้งนี้ยังต้องติดตามดูว่าความอ่อนไหวของชั้นใต้ดิน เนื่องจากความลึกในการวางอุโมงค์อยู่ที่ระดับ 30 เมตร และตัวอุโมงค์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่าสำหรับแนวทางการแก้ไขบริเวณผิวถนน ขณะนี้ยังคงไม่กล้านำเครื่องจักรเข้ามา หากแก้ไข คาดว่าภายใน 1 เดือนจะสามารถแก้ไขปัญหาบนดินเสร็จสิ้น โดยจะมีการสร้างสะพานชั่วคราว เบี่ยงเส้นทางจราจร เพื่อให้การจราจรคล่องตัว แต่ในระหว่างนี้ยังต้องเลี่ยงระหว่างซอยอุดมสุข 51-53 ไปก่อน ส่วนความเสียหายของบ้านเรือน เบื้องต้นพบมีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ดินทรุด ต้องตัดน้ำตัดไฟ 1 หลังคาเรือน ส่วนบริเวณอาคารบ้านเรือนที่ทรุดก็ให้ย้ายออก และทางบริษัท ซิโน-ไทย ในฐานะผู้รับเหมาขุดเจาะจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด ตามระเบียบการก่อสร้างที่จะต้องมีระบบประกันความเสียหายและรับผิดชอบ ส่วนบางเรือนโดยรอบที่ได้รับผลกระทบและถูกตัดน้ำตัดไฟชั่วคราว เนื่องจากเกรงไม่ปลอดภัย ขณะนี้ได้ประสาน กปน.และ กฟน.กลับมาจ่ายน้ำ จ่ายไฟฟ้าตามปกติแล้ว
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบในสถานที่เกิดเหตุ เสนอว่าการแก้ไขควรอุดรอยรั่วภายในท่อระบายน้ำ โดยอาจจะบล๊อกในท่อให้เป็นช่วงๆ เพื่อง่ายต่อการทำงาน จากนั้นก็จะสามารถปรับพื้นที่ดินที่เสียหายด้านบน ส่วนบ้านของประชาชนที่อยู่หน้าดินที่วางเสาเข็มไม่ลึกก็จะต้องรื้อถอนออกทั้งหมด ส่วนอาคารพาณิชย์ที่วางเสาเข็มลึก ยังสามารถใช้งานได้แต่ต้องรอให้พื้นที่โดยรอบซ่อมแซมให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันอันตรายและต้องตรวจสอบโครงสร้างอาคารให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้าพักอาศัย
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างอุโมงค์บึงหนองบอน ใกล้เสร็จแล้ว แต่เกิดปัญหาอาคารรับน้ำ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการก่อสร้าง.-สำนักข่าวไทย