กรมคุมประพฤติ 5 ม.ค.- นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่เจ็ดของ 7 วันอันตราย (4 มกราคม 2565) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,936 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา 2,668 คดี คิดเป็นร้อยละ 90.87 ติด EM 7 ราย คดีขับรถประมาท 3 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.1 และคดีขับเสพ 265 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.03
สำหรับช่วง 7 วันอันตรายปี 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565 มียอดคดีสะสมทั้งสิ้น 8,703 คดี จำแนกเป็นขับรถในขณะเมาสุรา 7,868 คดี คิดเป็นร้อยละ 90.41 ติด EM 17 ราย ขับรถประมาท 14 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.16 ติด EM 1 ราย
ขับเสพ 821 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.43
จังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ อันดับหนึ่งจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 459 คดี อันดับสองร้อยเอ็ด จำนวน 442 คดี และอันดับสามสกลนคร จำนวน 440 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 พบว่า คดีขับรถในขณะเมาสุรา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3,433 คดี คิดเป็นร้อยละ 43.63
สำหรับการติดอุปกรณ์ EM ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ราย ส่วนใหญ่ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่อยู่อาศัย ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมงผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center – EMCC)
ทั้งนี้ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการประชาชนที่จุดบริการประชาชน พร้อมทั้งจัดให้มีการทำงานบริการสังคมโดยการตรวจเยี่ยม แจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อำนวยความสะดวกจราจร ตรวจเยี่ยมด่าน ณ ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 387 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 7,167 คน
. อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถในขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา กรมคุมประพฤติจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาล สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ หรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ .-สำนักข่าวไทย