สธ. 17 พ.ย.- ที่ปรึกษากรมการแพทย์ แจงเหตุที่ประเทศไทยไม่ได้สิทธิบัตรในการผลิตยาโควิด-19 ทั้งโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด เพราะไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงปานกลาง แต่ในอนาคตอาจมีการเจรจาอนุญาตให้ผลิตได้
จากกรณีที่สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า บริษัท ไฟเซอร์ สหรัฐอเมริกา ประกาศว่า ไฟเซอร์ได้ทำข้อตกลงกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (เอ็มพีพี) เปิดทางให้บริษัทผู้ผลิตยาใน 95 ประเทศ สามารถผลิตและจำหน่ายยาแพกซ์โลวิด ยารักษาโควิด-19 ในประเทศได้ในราคาถูก เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ รวมทั้งบริษัท เมอร์ค ได้ทำข้อตกลงเปิดทางให้ 105 ประเทศ ที่เป็นประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง สามารถผลิตและจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ยาเม็ดสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งใน 2 กลุ่มประเทศที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว ไม่มีรายชื่อประเทศไทยนั้น
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อมีการผลิตยาใหม่ขึ้นมาในโลกก็จะมีราคาแพง เพราะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น ยาจึงเป็นความหวังของทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะยาโควิด-19 ซึ่งในแต่ละประเทศถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ไม่เท่ากัน ประเทศที่มีรายได้สูงจะเข้าถึงได้มากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง จึงต้องมีกระบวนการ voluntary license หรือบริษัทผู้ผลิตสามารถให้ลิขสิทธิ์ประเทศอื่นผลิตเองได้ด้วยความเต็มใจ เพื่อทำให้การเข้าถึงยาในประเทศรายได้ต่ำเท่าเทียมกับประเทศรายได้สูง
สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อมีการดีล หรือประสานกับบริษัทผู้ผลิตยา ก็ย่อมรู้ว่าบริษัทผู้ผลิตจัดประเทศไทยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ ระดับไหน ในที่นี้ไทยถูกจัดลำดับจากธนาคารโลก ให้อยู่ใน Upper middle income Country คือ ประเทศที่มีรายได้อยู่ในระดับสูงปานกลาง แต่ไม่ได้สูงเท่าระดับประเทศแถบยุโรปอเมริกา ดังนั้น การเข้าถึงยาของประเทศไทยจึงเข้าถึงได้ง่ายกว่าประเทศรายได้ต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ราคายาทั้ง 2 ตัวที่ไทยจะซื้อ จะอยู่ในราคาที่ไม่แพงเหมือนราคาที่ประเทศรายได้สูงซื้อ
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า โอกาสที่ไทยจะเจรจาต่อรองขอสิทธิบัตรมาผลิตยาได้เองนั้น เป็นเรื่องของอนาคต โดยต้องดูข้อกำหนดด้านอื่นประกอบหลายด้าน เช่น มาตรฐานในการผลิต สถานที่ หรือต้องรับเงื่อนไขให้ผลิตใช้ในประเทศเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ไทยถูกจัดให้อยู่ในประเทศรายได้สูงปานกลาง ไม่ได้รับสิทธิบัตรให้ผลิตยาเองในประเทศก็ตาม แต่เชื่อว่าในอนาคตรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องน่าจะมีการเจรจาขอสิทธิบัตรมาผลิตยาในอนาคต แต่คงไม่ใช่ในระยะแรกนี้ ซึ่งการจัดหายามาใช้ในประเทศคงเป็นการซื้อและจองคิวแต่เนิ่นๆ.-สำนักข่าวไทย