ยธ.15 พ.ย.-ชาวไร่อ้อย 4 จังหวัดภาคอีสาน ยื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมาย หลังถูกโรงงานน้ำตาลฟ้องร้องให้รับผิดชอบหนี้จากการส่งเสริมการปลูกอ้อย มูลค่ารวมกว่า 25 ล้านบาท
ที่บริเวณด้านหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข (ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม) ชั้น 1 อาคารกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องจากนายเอกชัย คะษาวงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนนาเดื่อพิทยาคม จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยตัวแทนชาวไร่อ้อย 4 จังหวัดภาคอีสาน คือ นครพนม สกลนคร อุดรธานี และบึงกาฬ ยื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมาย หลังถูกโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งฟ้องร้องให้รับผิดชอบหนี้จากการส่งเสริมการปลูกอ้อย มูลค่ารวมกว่า 25 ล้านบาท ทั้งที่โรงงานไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาจนไร่อ้อยเกิดความเสียหาย
นายเอกชัย กล่าวว่า เมื่อปี 2559 โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งมีแผนมาจัดตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร โดยชักชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย ด้วยการให้เงินส่งเสริมไร่ละ 7,000 บาท หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมของโรงงาน จะนำเงินนั้นไปจัดหาต้นพันธุ์ หาแรงงานมาปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนโรงงาน พร้อมยืนยันว่าถ้าทำตามแผนที่โรงงานกำหนด เกษตรกรจะได้เงินค่าผลผลิตประมาณไร่ละเกือบ 10,000 บาทต่อปี เกษตรกรนับร้อยรายจึงเกิดความสนใจ เข้ารับการส่งเสริมกับโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ ที่สาขาสกลนคร เกษตรกรอ้างว่า ในตอนนั้นไม่มีใครทราบว่าเอกสารที่เซ็นเป็นเอกสารเปล่าไม่ลงรายละเอียด และเจ้าหน้าที่ก็ให้เซ็นค้ำกันไปมาทั้งที่ผู้กู้และผู้ค้ำก็ไม่รู้จักมาก่อน หลังรับเงินส่งเสริม เกษตรกรทุกคนปฏิบัติตามสัญญาด้วยการให้เงินทั้งหมดกับเจ้าหน้าฝ่ายส่งเสริมของโรงงาน แต่หลังได้เงินไปแล้ว เจ้าหน้าที่กลับไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ เกษตรกรบางคนต้องกู้เงินเพื่อซื้อปุ๋ยและจ้างแรงงานมาดูแลมาตัดอ้อย เพราะกลัวว่าจะผิดสัญญา แต่ทางโรงงานก็ยังไม่สามารถตั้งโรงงานมารองรับผลผลิตได้ตามที่กล่าวไว้
ต่อมาทางโรงงานแจ้งความดำเนินคดีหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมของตัวเองจากการทุจริตจนถูกจำคุก และโรงงานเริ่มทยอยฟ้องร้องให้เกษตรกรรับผิดชอบหนี้ดังกล่าว เกษตรกรแสดงความคิดเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมมาธิการการอุตสาหกรรม ในที่ประชุม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของทางโรงงานอาจเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงหรือฉ้อโกงเกษตรกร กรรมาธิการจึงเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
จากปัญหาดังกล่าวมีเกษตรกรเดือดร้อนมานับร้อยราย ซึ่งหลังถูกฟ้องร้องเกษตรกรบางรายได้เซ็นเอกสารประนีประยอมยอมความ รับสภาพหนี้เพราะกลัวการขึ้นศาล ขณะที่เกษตรกรอีก 58 ราย ยืนยันจะต่อสู้คดี จึงมายื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรม ก่อนขึ้นศาลสืบพยานนัดแรกในวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายนนี้
ด้านนายสหการณ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนมาก กระทรวงยุติธรรมได้รับเรื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือ ในเบื้องต้นได้ประสานสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด เพื่อนำผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางกฎหมาย และหากชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดี กองทุนยุติธรรมจะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีต่อไป .-สำนักข่าวไทย