สธ. 28 ก.ย.-กรมอนามัย ออกคำแนะนำดูแลตัวเองช่วงน้ำท่วมกับการป้องกันโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการปฏิบัติตัวช่วงน้ำท่วมกับการป้องกันโควิด 19 ว่า สถานการณ์อุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่ช่วงวันที่ 23-28 ก.ย. ส่งผลกระทบใน 30 จังหวัด 145 อำเภอ 548 ตำบล 2,401 หมู่บ้าน 71,093 ครัวเรือน เสียชีวิต 6 คน และสูญหาย 2 คน ทั้งนี้ ภาวะน้ำท่วมมาพร้อมความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาพ ต้องเตรียมพร้อมรับมือ คือ
- ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
- นำสิ่งของในครัวเรือนขึ้นที่สูงลดความเสียหาย
- รู้เบอร์โทรฉุกเฉิน
- เรียนรู้เส้นทางอพยพไปที่ปลอดภัยใกล้บ้านที่สุดหากน้ำท่วมฉับพลัน
- เตรียมโทรศัพท์มือถือ เครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค และอุปกรณ์สิ่งจำเป็นต่างๆ ให้พร้อมเพียงพอ
- หากอยู่พื้นที่เสี่ยงควรเตรียมกระสอบทรายอุดปิดช่องว่างที่น้ำจะไหลเข้าบ้าน
- นำรถยนต์ ยานพาหนะ ไปจอดในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
- ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน นำสัตว์เลี้ยงไปที่ปลอดภัย
- เขียนที่ฟิวส์หรือเบรกเกอร์ว่าตัวใดควบคุมการใช้ไฟฟ้าจุดใด
- หากเกิดน้ำท่วมฉับพลันไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลากให้ออกจากรถและไปอยู่ในที่สูงทันที
สำหรับการปฏิบัติตัวระหว่างน้ำท่วม คือ
- ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อบ้านถูกน้ำท่วมทันที
- หลีกเลี่ยงงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ เว้นแต่จะแห้งสนิทและไม่ชำรุด
- ระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ ที่อาจจะหนีน้ำเข้ามาในบ้าน
- ระวังแก๊สรั่ว
- ทำความสะอาดสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ ห้ามบริโภคทุกสิ่งที่สัมผัสน้ำ เพราะอาจมีสิ่งปฏิกูลเชื้อโรคปะปนมา
- ขับถ่ายถูกสุขาภิบาล ใช้ส้วมเฉพาะกิจ โดยเอาถุงพลาสติกมาประยุกต์กับเก้าอี้พลาสติกเจาะรู ถังพลาสติก หรือลังกล่องกระดาษโดยใช้ถุงครอบมิดชิด ถ่ายในที่มิดชิด ถ่ายให้ลงถุง เสร็จแล้วใช้ปูนขาวหรือขี้เถ้าจำนวนหนึ่งทำลายเชื้อ มัดถุงให้แน่นเพื่อป้องกันแพร่กระจาย รวบรวมไปรอกำจัด
ส่วนข้อควรระวังช่วงน้ำท่วม คือ
1.ไม่เดินไปในเส้นทางน้ำหลาก เพราะอาจถูกน้ำพัดพาสูญหาย
2.ไม่ควรขี่จักรยานลุยน้ำ เพราะอาจมีหลุมบ่อที่มองไม่เห็นทำให้บาดเจ็บได้
3.ระวังสัตว์มีพิษ
4.ระวังการใช้เตา อาจเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
5.สวมรองเท้าบูท วัสดุป้องกัน หรือถุงพลาสติก เวลาเดินย่ำน้ำ เพื่อลดโอกาสถูกของมีคมบาด หรือเชื้อโรคมากับน้ำเข้าไปในบาดแผลหรือโรคฉี่หนู
6.ไม่ควรเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ
7.ระวังแก๊สรั่ว
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า แม้เผชิญปัญหาน้ำท่วม แต่เรามีสถานการณ์โรคโควิดอยู่ ซึ่งพื้นที่ประสบน้ำท่วมส่วนใหญ่สถานการณ์ระบาดไม่รุนแรงมาก แต่ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เนื่องจากโอกาสแพร่ระบาดของโควิด คือ ผู้คนที่หลีกหนีหลบภัยน้ำท่วมมารวมกันที่ศูนย์พักพิง ดังนั้น ผู้จัดการหรือควบคุมคุมดูแลศูนย์พักพิงต้องดำเนินมาตรการป้องกันโควิด 2 ประการ คือ
- จัดการสิ่งเแวดล้อม สุขลักษณะ สุขอนามัยและสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคต่างๆ และโควิด ทำความสะอาดพื้นผิว จัดระบบถ่ายเทอากาศ จัดการไม่ให้คนรวมกันแออัด
- การจัดการให้ผู้คนในศูนย์อพยพมีความปลอดภัย
กลุ่มแรก คือ ประชาชนที่หลบภัยน้ำท่วม หากมีอาการคล้ายโควิด โรคระบบทางเดินหายใจ ต้องแจ้งบุคลากรสาธารณสุข หรืออาสาสมัคร เพื่อนำไปตรวจและดูแลรักษาเหมาะสม หากไม่มีอาการหรือประวัติเสี่ยง เมื่อเข้ามาศูนย์พักพิงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด ที่ประยุกต์สอดรับสถานกาณ์น้ำท่วม คือ ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งป้องกันทั้งโควิดและโรคติดต่อที่อาจมากับอาหารและน้ำ เลี่ยงสัมผัสใบหน้าปากจมูกตา ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน กินสุกร้อน แยกกันกินอาหาร รักษาระยะห่าง ลดจับกลุ่มพูดคุย ใส่หน้ากาก รักษาดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวที่อยู่ในศูนย์พักพิง อีกกลุ่มคือ บุคคลที่ไปช่วยเหลือต้องประเมินตนเอง หากไม่สบาย มีโรคทางเดินหายใจคล้ายโควิด ควรหยุดพักและไม่ไปช่วยเหลือ ดำเนินมาตรการป้องกันตนเองตลอดเวลา ซึ่งจะป้องกันทั้งตัวเองและประชาชนที่ไปช่วย จัดการศูนย์พักพิงให้ปลอดภัย .-สำนักข่าวไทย