วธ.30 ส.ค.- วธ.ผลักดันศิลปินพื้นบ้านสร้างผลงานออนไลน์ ดึง “กุ้ง สุทธิราช -บี้ เดอะสกา- ครูเงาะ – ครูเจมส์” ยูทูบเบอร์ชื่อดังถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และเคล็ดลับ ช่วยเหลือศิลปินและเครือข่ายวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยศิลปินพื้นบ้านและบุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มศิลปินและกลุ่มเครือข่ายในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกลุ่มศิลปินและกลุ่มเครือข่ายในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมปรับตัวและปรับวิธีเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบออนไลน์ มากขึ้นโดยเสนอให้ วธ.ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนนั้น
วธ.จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านโดยการผลิตสื่อเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2564 และวันที่ 6 กันยายน 2564 โดยเชิญวิทยากรชื่อดังมาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และเคล็ดลับการปรับตัวของศิลปิน นักแสดง การผลิตผลงานให้ได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์ในยุค New Normal อาทิ กุ้ง สุทธิราช เทพบุตรลูกทุ่งชื่อดัง, บี้ เดอะสกา Youtuber 500 ล้าน ที่มีผู้ติดตามกว่า 13 ล้านคน, ครูเงาะ Acting Coach อันดับต้นของประเทศและครูเจมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสาร และการตลาดบน Digital Platform โดยจะมีการอบรมผ่าน Zoom และ Live สด ทาง Facebook กระทรวงวัฒนธรรม ให้ศิลปินพื้นบ้านจำนวน 9 สมาคม เครือข่ายศิลปิน นักวิชาการวัฒนธรรม 76 จังหวัดและผู้สนใจเข้ารับชม
สำหรับเนื้อหาการอบรม ประกอบด้วย
- การบรรยายให้ความรู้ในการผลิตสื่อการแสดง การกำหนดหัวข้อ (Theme) การจัดทำเนื้อหา (Content) ในการจัดทำคลิปวิดีโอและกระบวนการการผลิตสื่อการแสดงที่เหมาะสม น่าสนใจ รวมถึงเทคนิคในการสร้างการรับรู้และการจดจำบนสื่อออนไลน์
- กิจกรรม (Workshop) เพื่อฝึกปฏิบัติการใช้งานอุปกรณ์ถ่ายทำคลิปวิดีโอ และการตัดต่อแบบมืออาชีพ (Step by Step) เน้นการถ่ายทำและการตัดต่อวิดีโอด้วยแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ 3. การผลิตสื่อการแสดงของศิลปินพื้นบ้าน (เสมือนจริง) จำนวน 9 สมาคม เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ และ 4. การนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการพัฒนาการผลิตสื่อการแสดงเพื่อเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์
“การอบรมดังกล่าวถือเป็นการฟื้นฟูเครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน และพัฒนาศักยภาพผู้ที่สนใจในการผลิตสื่อการแสดงให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งพฤติกรรมความนิยมผู้บริโภคในการรับชมผ่านสื่อออนไลน์ช่องทางต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ มรดกภูมิปัญญา ศิลปะการแสดงของท้องถิ่น ให้กับประชาชนและเยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติต่อไป นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมทั่วประเทศประสานศิลปินพื้นบ้าน ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม จัดทำวีดิทัศน์เป็นสื่อเรียนรู้เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ หรือนำไปเผยแพร่สื่อท้องถิ่น” ปลัด วธ.กล่าว
ส่วนความช่วยเหลือในระยะยาวนั้น วธ.จะมีการจ้างงานศิลปิน ให้ร่วมกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัดภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัด ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระดับจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดอย่างเคร่งครัด” ปลัด วธ. กล่าว .-สำนักข่าวไทย